วิกฤติอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมืองการจี
วิกฤติเศรษฐกิจของปากีสถานปัจจุบัน อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในปากีสถานต้องปิดสายการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้จัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ (Local Vendors) เพื่อประกอบภายในประเทศได้ ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในปากีสถาน เช่น Suzuki, Honda และ Toyota กำลังประสบกับความท้าทายและต่อสู้กับภาวะขาดทุน เนื่องจากยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างมาก จากการที่กำลังซื้อลดลง เนื่องจากราคารถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องลดปริมาณการผลิตรถยนต์ในบางรุ่นและบางประเภท และปิดสายการผลิตในบางประเภท ทั้งนี้ บริษัท Indus Motor Company (IMC) ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ Toyota ในปากีสถานประกาศปิดสายการผลิต ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 จนถึงสิ้นเดือน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปากีสถานและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตยานยนต์ รวมถึงการจ้างงานท้องถิ่น
แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Suzuki ซึ่งครองตลาดปากีสถาน (รถยนต์ขนาดเล็ก) ได้ประกาศลดจำนวนการผลิต และแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายหยุดรับการจองรถยนต์บางประเภทเนื่องจากบริษัทไม่อาจแบกรับภาระขาดทุนต่อไป จนทำให้ต้องปิดสายการผลิตของรถยนต์บางประเภทเป็นการชั่วคราว ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ Honda ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ต้องยกเลิกสายการผลิตกะที่ 2 (Second Shift Schedule) เป็นเหตุให้มีผู้ตกงานประมาณ 4 พันคน ซึ่งโดยรวมจนถึงขณะนี้มีผู้ตกงานอันเนื่องมาจากการปิดสายการผลิตแล้วจำนวนกว่า 36,000 คน
นอกจากนี้ ประเด็นภาวะวิกฤติเงินรูปีฯ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเอง ก็ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในปากีสถานต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งในขณะเดียวกันรัฐบาลปากีสถานกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงด้วยการจัดเก็บภาษีสรรสามิต (Federal Excise Duty – FED) ที่ร้อยละ 2.5 – 2.7 เพิ่มเติม รวมทั้งปรับอัตราภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ราคาขายปลีกรถยนต์สูง เพราะเป็นทางเดียวที่ผู้ประกอบการจะประคองตัวเองได้ จนในที่สุดราคาขายปลีกสูงเกินกำลังซื้อของผู้ซื้อทั่วไป
ผู้สังเกตการณ์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เห็นว่า รัฐบาลปากีสถานควรต้องรีบหาทางออกให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบรถยนต์ภายในประเทศเป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของปากีสถานและยังมีภาคธุรกิจ ขนาดเล็กและกลางอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในขณะนี้ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกัน ในระยะปัจจุบัน เป็นระยะที่ผู้ประกอบการรายใหม่กำลังจะเข้าสู่ตลาดในประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุน โดยการมีนโยบายที่ต่อเนื่องและควรยกเลิกภาษี FED (Federal Reserve System) เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ตกงานร้อยละ 30 – 40 ส่งผลให้จำนวนผู้ยากจนที่อยู่ต่ำกว่าระดับความยากจน (Below Poverty Line) เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลปากีสถานภายใต้การบริหารประเทศโดยพรรค Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) เคยประกาศตอนหาเสียงว่า จะสร้างงานจำนวน 1 ล้านงาน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เติบโตเพียงร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 5.8 เมื่อปีที่ผ่านมา และอาจจะลดลงเหลือ 2.4 ในปีงบประมาณปัจจุบัน จึงทำให้เป้าหมายการสร้างงานดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ Dr. Hafiz A. Pasha นักวิจัยเศรษฐกิจอาวุโสและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของปากีสถานให้ความเห็นว่า เมื่อปีที่ผ่านมาแรงงานจำนวน 1 ล้านต้องประสบกับภาวะตกงาน และปีนี้คาดว่าแรงงานจำนวนอีกกว่า 4 แสนถึง 1 ล้านคน จะต้องประสบกับภาวะตกงานเช่นกัน และได้ตำหนินโยบายรัฐบาลที่มุ่งจัดเก็บภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการหลัก และเห็นว่า จังหวะและลักษณะการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีน่าจะมีความบกพร่อง ซึ่งผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ประชาชนปากีสถานราว 4 ล้านคน ต้องกลายเป็นคนยากจน
นอกจากนี้ Dr. Mirza Ikhtiar Baig รองประธานอาวุโสของ Federation of Pakistan Chamber of Commerce and industry (FPCCI) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยายนต์เริ่มปิดตัวลง สถิติการผลิตในปัจจุบันลดลงถึงร้อยละ 50 เนื่องจากผลประกอบการโดยรวมลดลงถึงร้อยละ 60 – 70 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าขมขื่นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะนี้ อาจจะไม่สามารถประมาณการจำนวนผู้ตกงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนคน ในสภาวะเศรษฐกิจที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องประสบกับความท้าทายเพื่อความอยู่รอด พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากต้องประสบกับภาวะล่มสลาย ทำให้รัฐบาลปากีสถานโดยพรรค PTI ต้องพบกับความกดดันจากชนชั้นกลางที่เป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรค PTI
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com