‘TCEB’ ผนึก 8 สถาบันการศึกษา ปั้นบุคลากร ‘MICE’ มืออาชีพป้อน EEC
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB จับมือ 8 สถาบันการศึกษาและคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) จัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์รองรับการพัฒนา EEC และธุรกิจไมซ์ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยมหาศาล เฉลี่ยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 8 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไมซ์ภาคการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster)
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทีเส็บ กับคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นศูนย์กลางคณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขต EEC โดยคาดว่าจะสร้างบุคลากรไมซ์ที่มีคุณภาพให้กับภาคตะวันออก ภายในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อปี สามารถรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์ และความต้องการบุคลากรของผู้ประกอบการไมซ์ในพื้นที่ EEC ได้ชัดเจนมากขึ้น
ด้าน นายอภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ประมาณการความต้องการบุคลากรในเขต EEC ในปี 2562 - 2566 ว่า มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 475,668 อัตรา โดยเฉพาะความต้องการด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและไมซ์ มีจำนวนถึง 16,920 อัตรา หรือคิดเป็น 4 % ของความต้องการแรงงานในพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือว่าตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนในด้านนี้ได้อย่างตรงเป้า"
สำหรับมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ที่ลงนามความร่วมมือโครงการรนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี, วิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา, วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา (วอศ.) และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (วทส.)
ขณะที่ปัจจุบันนี้มีสถาบันการศึกษาทั่วไทย บรรจุหลักสูตรไมซ์ทั้งสิ้น 121 แห่ง และเปิดสาขาวิชาไมซ์แล้ว 22 แห่งทั่วประเทศ มีศักยภาพในการผลิตบุคลากรด้านไมซ์ทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเฉลี่ยปีละกว่า 20,000 คน ทั่วประเทศ
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th