เมื่อลมเปลี่ยนทิศ รถยนต์ไฮบริดจะแซงหน้ารถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่?

อัปเดตล่าสุด 15 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 718 Reads   

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังตื่นตัวกับยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ตามแนวโน้มนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นช่วงหลังนี้เอง ที่รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles: HV) เริ่มเป็นที่ถูกจับตามองมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ทั้งความเป็นไปได้ที่มากกว่า ราคาที่ต่ำกว่า และปัจจัยอื่น ซึ่งล่าสุด ประเทศจีนก็ได้ประกาศสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ไฮบริดไปแล้วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

Well to Wheel

เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) และ Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT) ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศให้การพัฒนายานยนต์ให้มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2016 อีก 32% และภายในปีงบประมาณ 2030 เป็นพันธกิจใหม่ของผู้ผลิตยานยนต์ค่ายญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicles) และแนวคิดใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “Well to Wheel (W2W)”

แนวคิด W2W คือ แนวคิดด้านการประหยัดพลังงานของยานยนต์ ที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะพลังงานที่ใช้ในการวิ่ง แต่พูดถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สืบเนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ระหว่างการวิ่งก็จริง แต่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมีการปล่อยก๊าซอยู่ จึงไม่อาจเรียกรถยนต์ไฟฟ้าว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงได้

หากอ้างอิงตามแนวคิดนี้แล้ว สิ่งที่จะเป็นเกณฑ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ก็คือที่มาของพลังงาน ส่งผลให้รถยนต์ไฮบริดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า สำหรับประเทศที่มีการอัตราการใช้ไฟฟ้าพลังความร้อนสูง เช่นจีน และอินเดีย ด้วยเหตุนี้เอง การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า จึงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ

เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ายังดีไม่พอ

Mr. Toshio Fujimura ศาสตราจารย์ประจำ Aichi Institute of Technology และที่ปรึกษาในสังกัด PricewaterhouseCoopers (PwC) กล่าวแสดงความเห็นว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์ ยังมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ” โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว พบว่าประสิทธิภาพและความคุ้มค่ายังห่างกันอีกมาก

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม Mr. Tadanori Okano ประธานสมาคม Japan Auto Parts Industries Association (JAPIA) ได้เข้าพบกับอดีตประธานสมาคม Automotive Component Manufacturers Association of India (ACMA) ที่ประเทศอินเดีย เพื่อปรึกษาเรื่องมาตรการที่จะบังคับใช้ต่อผู้ผลิตยานยนต์ ซึ่งทางอินเดียได้แสดงท่าทีเห็นด้วย โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียมีนโยบายบังคับให้รถยนต์ใหม่ที่จะจำหน่ายหลังปี 2030 เป็นต้นไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ก่อนประกาศยกเลิกนโยบายนี้ในภายหลัง

เทรนด์อาจเปลี่ยนไป

แน่นอนว่าในท้ายที่สุด รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางด้านเทคโนโลยีหลายอย่างในปัจจุบันยังไม่มีท่าทีว่าจะถูกแก้ไข ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์จึงคาดการณ์ว่า หลังพ้นช่วงตื่นตัวไปแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีอาจจะหันไปทางรถยนต์ไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด, เครื่องยนต์สันดาป, และระบบส่งกำลังแทนที่

ประเทศจีนนำหน้า ประกาศหนุนรถยนต์ไฮบริดแล้ว

ซึ่งในเทคโนโลยีเหล่านี้ ประเทศที่ได้รับการจับตามองที่สุดในปัจจุบันคือประเทศจีน เนื่องจากมีเทคโนโลยีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเครื่องยนต์สันดาป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีความคุ้มค่าทางด้านการใช้พลังงานสูงที่สุดในปัจจุบัน โดยจีนประกาศชูธงรถยนต์ไฮบริด เพื่อตอกย้ำแนวคิดนี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

รัฐบาลจีนประกาศให้นโยบาย New Energy Vehicles (NEV) ซึ่งจะมีบทบาทในการควบคุมยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีผลบังคับใช้ในปี 2019 บีบให้ค่ายรถหันมาผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น แทนที่การพัฒนาเครื่องยนต์สันดาป ในเดือนกรฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศให้เครื่องยนต์สันดาปสำหรับรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเดิมทีถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับเครื่องยนต์ทั่วไป กลายเป็น “เครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน” ส่งผลให้ค่ายรถมีทางเลือกในการพัฒนาเครื่องยนต์มากยิ่งขึ้น

ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า มาตรการของจีน ที่เป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนายานยนต์ และนโยบายของประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างมาก โดย Mr. Takaki Naganishi ตัวแทนจากแผนกวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ Nakanishi Research Institute แสดงความเห็นว่า “เป็นมาตรการที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฮบริดเป็นอย่างยิ่ง”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนารถยนต์ไฮบริดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ในปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดจะมีประสิทธิภาพในการขับขี่สูง และราคาที่สมเหตุสมผล แต่ในอนาคตผู้บริโภคจะต้องการให้ราคาถูกลงกว่านี้ และประหยัดน้ำมันมากกว่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากสำหรับค่ายรถญี่ปุ่น เนื่องจากไม่สามารถอาศัยการอัดฉีดงบวิจัย และพัฒนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ รถยนต์ไฮบริดก็อาจเป็นเทรนด์ได้ไม่ยั่งยืนนัก

ส่วนรถยนต์ไฮบริดจากค่ายรถยุโรปนั้น แม้จะไม่ประหยัดเชื้อเพลิงเท่าค่ายญี่ปุ่น แต่มีจุดที่ได้เปรียบคือเทคโนโลยีที่ใช้มีต้นทุนในการพัฒนาถูกกว่า และสามารถพัฒนาต่อได้ง่ายกว่า ส่งผลให้สามารถลดราคาขายให้ต่ำลงได้ง่ายกว่าญี่ปุ่นมาก

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดแล้ว อีกประเภทหนึ่งที่ถูกคาดหวังว่าจะแพร่หลายในอนาคตคือรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicles: FCV) ซึ่งถูกคาดการณ์ว่ากว่าจะใช้งานได้จริงก็ต้องอาศัยเวลาอีกมาก และในท้ายสุดอาจกลายเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ คู่กับรถยนต์ไฟฟ้าที่การพัฒนาแบตเตอรี่แบบ All Solid State แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตการจะอยู่รอดในตลาดต่อไป ก็อาจหมายถึงต้องให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นก็เป็นได้