030-ไทยซัมมิท-อุตสาหกรรม-ยานยนต์-ดิสรัปชัน

“ไทยซัมมิท” ชี้ “ผู้ผลิตรถยนต์” กำลังถูกดิสรัปส์ลดชั้นเป็น “ผู้รับจ้างผลิต”

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 895 Reads   

ไทยซัมมิทชี้อุตสาหกรรยานยนต์-ชิ้นส่วนกำลังถูกดิสรัปส์ “ผู้ผลิตรถยนต์” กำลังถูกลดชั้นเป็น “ผู้รับจ้างผลิต” เปลี่ยนบทบาทจาก “กองหน้า”เป็น”กองกลาง” ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนเป็นการเลือกซื้อบริการมากกว่าซื้อรถยนต์

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท กล่าวในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “THAILAND 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ภายใต้หัวข้อ Next Chapter อุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากและมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เป็นลักษณะของชัพพลายเชนที่มีลักษณะเส้นตรงยาว เริ่มต้นที่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ส่งต่อไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (เทียร์1,2,3) จนกระทั้งไปที่ผู้ผลิตรถยนต์ จากนั้นรถยนต์จะถูกส่งต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ที่ถูกครอบครองโดยผู้ผลิตรถยนต์ ก่อนส่งรถยนต์ไปถึงมือผู้บริโภค

แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยี หรือ ดิสรัปต์ชั่น ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่า ในอนาคต 10-20 ปี โมเดลธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละซัพพลายเชนจะเป็นแบบใด

โดย 4 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ได้แก่ Mobility , Autonomous driving, Digitalization, Electrification โดยเชื่อว่าอนาคต คนจะไม่เลือกซื้อรถยนต์แต่จะเลือกซื้อ Mobility หรือการเคลื่อนย้ายที่เหมาะสมกับความต้องการตัวเอง ในช่วงนั้น ๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘Mobility-as-a-Service’ หรือ MaaS ซึ่งอนาคตคนที่เลือกซื้อรถรถยนต์ จะมองไปที่เรื่องของการซื้อบริการ ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องมีการเปลี่ยนจาก “ธุรกิจการผลิต” มาเป็น “ธุรกิจการบริการ” ซึ่งถือเป็นการพลิกเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามาจะเปลี่ยนระบบซัพพลายเชน เปิดโอกาสให้หลากหลายธุรกิจเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งธุรกิจมีเดีย พลังงาน อินฟาสตรัคเจอร์ ฯลฯ และทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน เพราะจากเดิม “ผู้ผลิตรถยนต์” คือผู้ควบคุมตลาด แต่อนาคตธุรกิจอื่น ๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะยักษ์เทคโนโลยีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล ที่ประกาศจะเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ และสามารถมีรถยนต์ยี่ห้อของตนเองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ แต่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยการจ้างผู้ผลิตรถยนต์แทน

ดังนั้นบทบาทของ “ผู้ผลิตรถยนต์” จะเปลี่ยนไป สู่การเป็น “ผู้รับจ้างผลิต” ซึ่งหมายความว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ จากเดิมที่เป็นผู้ควบคุมตลาดก็จะถูกลดระดับเป็นผู้ผลิตในเทียร์ 1 เท่านั้น เพราะบริษัทยักษ์เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นเจ้าของแบรนด์และเป็นผู้ส่งสินค้าและบริการถึงผู้บริโภคแทน

“ถ้าเปรียบกับเป็นนักฟุตบอล คือจากที่เล่นในตำแหน่งกองหน้าอยู่ดี ๆ วันดีคืนดี ผู้ผลิตรถยนต์ถูกเปลี่ยนให้ไปเล่นในตำแหน่งมิดฟิวด์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนซึ่งจะส่งผลกระทบกับรายได้และกำไรในอนาคต” นางสาวชนาพรรณ กล่าว