029-สัมมนา-Disruptive-Technology-สดช-TDRI

สดช. จับมือ TDRI สัมมนาวิชาการรับมือ ‘Disruptive Technology’ พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 682 Reads   

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology : พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส” ภายใต้โครงการวิเคราะห์วิจัยผลกระทบ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับ Disruptive Technology ในบริบทเศรษฐกิจและสังคมไทย และสถานการณ์การพัฒนาดิจิทัลในอนาคต โดยเป็นโครงการวิเคราะห์วิจัยที่ สดช. ได้จัดทำร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

การจัดประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้นั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความความคิดเห็น เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการต่อตลาดและผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เท่าทันต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยทางโครงการวิเคราะห์วิจัย ได้ดำเนินการศึกษา การรับมือกับผลกระทบของ Disruptive Technology ในบริบทของประเทศไทย ทั้งในภาพรวมและในรายกลุ่มกุรกิจ ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการศึกษาทั้งหมด 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการผลิต 2) การแพทย์และสุขภาพ 3) ภาคการเกษตร 4) อุตสาหกรรมสื่อ 5) การค้าปลีก 6) บริการโรงแรม และ 7) บริการขนส่งผู้โดยสาร

นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น Big Data AI Robotic และ 3D Printing ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทำให้ทุกภาคส่วนทุกองค์กรต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้

“รัฐบาลเอง ก็มีนโยบายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน การปฏิรูปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศ ทั้งยังรองรับประเด็นผลกระทบของ Disruptive Technology ในบริบทของประเทศไทย สดช. ได้เตรียมการทั้งในด้านนโยบายและแผน โครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) , การดูแลการเข้ามาในเรื่องของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 5G , พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ. 2562 เป็นต้น รวมทั้งมีการวางแนวทางพัฒนากำลังคนดิจิทัล เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลพื้นฐานสำหรับประชาชนด้วย” นายธีรวุฒิ กล่าว

อีกทั้ง การจัดประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ , บริษัท เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และสหกรณ์แท็กซี่สยาม