SIer เตรียมลุย ชี้ช่องธุรกิจดาวรุ่ง สำหรับ System Integrator

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 1,543 Reads   

ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้า ทำให้แก้โจทย์ยากหลายเรื่องได้สำเร็จ เปิดโอกาสในการนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรม และยังนำมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนอีกด้วย  เมื่อความต้องการหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ จึงทำให้ความต้องการ System Integrator (SI) และ SIer ผู้ซึ่งออกแบบติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหมดเข้าด้วยกันนั้นก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  โดยผู้อยู่ในธุรกิจ System Integrator หรือ SIer จากญี่ปุ่น ได้เผยถึงอุตสาหกรรมดาวรุ่งสำหรับธุรกิจนี้ โดยมีโอกาสเติบโตสูงในงานที่ต้องการความสะอาด งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ  รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของมนุษย์ และแน่นอนว่าโอกาสย่อมมาพร้อมอุปสรรค ซึ่งเป็นคีย์สำคัญในการผลักดันให้ SIer ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันต่อเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องฟังเสียงลูกค้า

โอกาสของ SIer

ความต้องการ System Integrator ในภาคอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมีเงินลงทุนระบบอัตโนมัติน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และในประเทศที่มีการไหลออกของแรงงานสูง 

ตลาดที่มีความต้องการ SI มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมอาหาร สืบเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเทคโนโลยีโรบอทน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น บริษัท SI จึงตอบสนองแนวโน้มนี้ ด้วยการประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่มีราคาถูก เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอประโยชน์อื่นที่ได้จากการใช้หุ่นยนต์ให้ผู้ผลิตอาหาร เช่น ABB ที่เสนอว่า การใช้หุ่นยนต์ทำให้ช่วยยืดวันหมดอายุของอาหารออกไปได้อีก 3 วัน เนื่องจากความสะอาดในกระบวนการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยคลีนรูม หรือสายการผลิตไร้มนุษย์ที่ป้องกันเชื้อโรคได้ดีกว่า

Mr. Shinsuke Aoki ผู้จัดการฝ่ายขาย Office FA.com บริษัท SIer ค่ายญี่ปุ่น แสดงความเห็นต่อแนวทางของ ABB ว่า “เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก นอกจากอาหารจะมีอายุยาวขึ้นแล้วยังปลอดภัยมากขึ้นด้วย” พร้อมกล่าวถึงประโยชน์อื่นที่เกิดจากแนวทางนี้ เช่น การลดภาระของแรงงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ทำหน้าที่รับส่งอาหาร ซึ่งมักขนส่งในช่วงเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้ผลิตอาหารที่ต้องการ SI ก็ยังคงเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ อีกทั้งจำเป็นต้องลงทุนปรับเปลี่ยนโรงงานบางส่วน อย่างไรก็ตาม Mr. Shinsuke Aoki แสดงความเห็นว่า “เป็นการลงทุนที่อาจต่อยอดสู่การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในซัพพลายเชนได้”

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหาร คือ การใช้แรงงานในการผลิตอาหาร จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการผลิตอาหารที่มีเนื้ออ่อน และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าหุ่นยนต์มาก

ด้วยเหตุนี้เอง อีกเทคโนโลยีที่อุตสาหกรรมอาหารเริ่มให้ความสนใจคือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่ง DeepX บริษัทร่วมทุนด้าน AI จากประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกับ Ishida ผู้ผลิตเครื่องมือวัด และใช้การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ในการออกแบบโรบอทสำหรับผลิตพาสต้า ซึ่งหากการพัฒนาสำเร็จ ก็จะสามารถต่อยอดในการผลิตอาหารเส้น หรือเครื่องเคียงอื่น ๆ ได้

อาหารอีกชนิดที่โรบอทผลิตได้ยากคืออาหารทอด ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของพนักงาน ซึ่ง Mr. Tomohiko Yamaguchi ประธานบริษัท iCOM Giken แสดงความเห็นว่า หากพัฒนา AI ให้แยกแยะของทอดได้จากกล้องแล้ว ก็อาจจะทำให้พัฒนาโรบอทสำหรับผลิตของทอดได้สำเร็จ

ปัญหา


ระบบเชื่อมของ LINKWIZ (สนับสนุนภาพโดย LINKWIZ)

SIer จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิด หลักการออกแบบระบบ รวมถึงมีองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์เสียก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SIer ยังไม่ได้รับความสำคัญจากลูกค้าเท่าที่ควร โดย Mr. Go Fukino ประธานบริษัท LINKWIZ SIer ค่ายญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า “มีหลายครั้งที่เมื่อเสนอไอเดียการติดตั้งโรบอท และระบบอัตโนมัติให้ลูกค้าแล้ว ลูกค้าเป็นผู้ซื้อมาติดตั้ง หรือจ้างบริษัทอื่นติดตั้งตามไอเดียนั้นแทน” ซึ่งกรณีเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขต่อไป เช่น การนำเสนอไอเดียที่บริษัทอื่นไม่อาจทำตามได้ หรือการพึ่งพาคนกลาง เช่น การก่อตั้งสมาคม SIer 

ตัวอย่างของบริษัท SIer ที่แก้ปัญหานี้อย่างเหมาะสมคือ ROBOTCOM ซึ่ง Mr. Hideki Iino ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ได้เสนอแนวทางการใช้คนกลางเข้าช่วยในขั้นตอนการเซ็นสัญญาทางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าไม่สามารถนำไอเดียที่ถูกออกแบบโดย SIer ไปใช้ได้โดยพลการ

ปัจจุบัน LINKWIZ ได้ร่วมมือกับ Panasonic ในการพัฒนาระบบอัตโนมัติ และทักษะดิจิทัลสำหรับงานเชื่อมโลหะ ติดตั้งเครื่องสแกนด้วยเลเซอร์ไว้ที่แขนโรบอท เพื่อเรียนรู้กระบวนการงานเชื่อม การเคลื่อนไหว และคุณภาพชิ้นงานที่เหมาะสม เพื่อจำลองทักษะเหล่านี้ออกมาด้วยระบบอัตโนมัติ 

Mr. Go Fukino แสดงความเห็นว่า “การเปลี่ยนทักษะของพนักงานเป็นระบบอัตโนมัติ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการขาดแคลนแรงงาน หรือมีการไหลออกของแรงงานรุนแรง” 

ด้วยเหตุนี้เอง SIer จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในทักษะที่ลูกค้าต้องการด้วย จึงจะสามารถออกแบบระบบให้ตอบโจทย์ความต้องการได้ และการกระจายความรู้ ให้คนนอกเข้าใจว่ามีอาชีพนี้อยู่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้เอง SIer จึงเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด ก้าวตามพัฒนาการของเทคโนโลยีให้ทัน และรับฟังความต้องการของลูกค้าให้ดี ซึ่งหากสามารถทำตามนี้ได้แล้ว ก็จะกลายเป็น SIer ที่ได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการตัวในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างแน่นอน