“คิงส์เกต” นั่งรอ ก.อุตฯ ยุติปัญหาเหมืองทองคำอัครา
รัฐบาลไทยยังนิ่งเจรจาเหมืองทองฯ ไร้สัญญาณพบกัน อีก 1.5 เดือน “คิงส์เกต-กระทรวงอุตฯ” เตรียมเข้าอนุญาโตตุลาการไต่สวนนัดแรก 18 พ.ย.นี้ กรณีที่รัฐบาลไทยใช้คำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองแล้วเกือบ 3 ปี คาดการเจรจากันอาจล่ม ต้องเจอกันที่ศาลตามกำหนด 18-29 พ.ย. 2562 นี้
นายสิโรจน์ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ชาตรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดโอกาสให้ทางบริษัทคิงส์เกตฯ เข้าหารือเพื่อนำไปสู่ทางออก และไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนพยานนัดแรก ตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 18-29 พฤศจิกายน 2562 แต่จนถึงขณะนี้ ทางรัฐบาลไทยยังคงไม่มีสัญญาณของการนัดเพื่อเข้าหารือตามที่ได้กล่าวไว้ แม้ว่าทางคิงส์เกตฯ เองจะยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า พร้อมที่จะเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ดังนั้นจึงเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนกว่าเท่านั้น ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีเวลาได้พบก่อน หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ในท้ายที่สุดแล้ว 2 ฝ่ายก็ต้องพบกันที่ศาลนัดแรกตามกำหนด
“แม้การขึ้นศาลไต่สวนตามระบบอนุญาโตฯ นัดแรก วันที่ 18 พ.ย. 2562 แต่จะยังไม่ใช่วันตัดสิน แต่ความพยายามที่เราจะเจรจาก็มีมาโดยตลอด เพราะมันมีเรื่องของค่าใช้จ่ายว่าจ้างทนายที่สูง ทั้งฝั่งคิงส์เกตฯ และฝั่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเอง”
สำหรับพื้นที่เหมืองทองคำชาตรี ได้มีการสำรวจสินแร่ไว้แล้ว โดยข้อมูลปี 2561 ปริมาณแร่พร้อมขุด (reserved ore) ทั้งหมด 35.4 ล้านตัน สามารถผลิตทองคำได้ 890,000 ออนซ์ มูลค่า 37,024 ล้านบาท และยังสามารถผลิตเงินได้ 8,300,000 ออนซ์ มูลค่า 3,984 ล้านบาท จากปริมาณแร่ทั้งหมดเทียบกับกำลังการผลิตของอัคราฯ 120,000 ตัน/ปี ดังนั้น อัคราฯ สามารถประกอบกิจการต่อได้อีกประมาณ 10 ปี ดังนั้นจากตัวเลขการสำรวจที่ทางคิงส์เกตฯ ต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่ทางอัคราฯ ประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย ยังคงยืนยันว่าปริมาณแร่ในพื้นที่สัมปทานขณะนี้มีปริมาณที่สามารถผลิตทองคำได้ 890,000 ออนซ์ ณ ราคาทองวันนี้ประมาณ 1,300 บาท/ออนซ์ คิดเป็นมูลค่า 37,024 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากประเมินเคสนี้มองว่า ทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเองมีเจตนาที่จะเปิดทางการเจรจาจริงกับทางคิงส์เกตฯ แต่อย่าลืมว่าเรื่องของเหมืองทองอัคราฯ มันมีข้อมูล เอกสารอีกหลายฝ่าย หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องนำมาชี้แจง นำข้อมูลมาพิจารณาอย่างละเอียด ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่า หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่เก็บข้อมูลการป่วยของประชาชนรอบเหมืองทอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การรั่วไหลของสารต่าง ๆ และอาจยังคงไม่เห็นด้วยที่จะให้เจรจากัน
เพราะข้อมูลก่อนหน้านี้ พิจารณาจากรายงานผลการศึกษาโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะเป็นผู้ศึกษาโครงการได้มีผลสรุปออกมาแล้วว่า บ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของอัคราฯ มีการรั่วซึมจริง และอาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก เพิ่มเติมจากโลหะหนักที่อาจเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า นับตั้งแต่นายสุริยะได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายหารือกัน แต่ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่ได้พบกันเพื่อหารือแนวทางยุติข้อพิพาทใด ๆ เลย และขณะนี้ทาง กพร.เองก็ได้อยู่ระหว่างการเตรียมการขั้นตอน เพื่อที่จะขึ้นศาลตามกำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงหวังว่าเวลาที่เหลือระหว่างนี้ ทั้ง 2 จะได้มีโอกาสในการหารือกัน