027-อุตสาหกรรม-เหล็ก-พรบ-sme

กม.สกัดเลี่ยง AD พ่นพิษ SMEs ร้องขอ “โควตานำเข้าเหล็ก”

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 723 Reads   

เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนที่ พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความเห็นต่ออนุบัญญัติภายใต้กฎหมายใหม่ไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันกรณีที่ผู้นำเข้าสินค้าที่ถูกรัฐบาลใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ไปแล้วหาช่องทางหลบเลี่ยงภาษี AD โดยการนำส่วนผสมอื่นที่ไม่ได้ทำให้คุณภาพสินค้าเปลี่ยนแปลงมาผสม เพื่อเปลี่ยนให้เป็นสินค้าในพิกัดศุลกากรอื่นที่นำเข้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเอดี ทางรัฐจึงกำหนดมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงภาษี AD หรือที่เรียกว่า anticircumvention (AC) ขึ้น เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ

ขณะที่กลุ่มผู้นำเข้าและผู้ใช้เหล็กส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมได้คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายใหม่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะผู้ผลิตเหล็กในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าตามคุณภาพตามที่ต้องการ และผลิตปริมาณไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้า ดังนั้น หากใช้มาตรการ AC เก็บภาษีอีก จะทำให้ปิดช่องการนำเข้าทั้งหมดจะนำไปสู่การผูกขาดตลาดและปรับราคาจำหน่ายในอนาคต

หวั่น SME 1,865 โรงงานอ่วม

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาฯ ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและเก็บข้อมูลผลกระทบจากการใช้มาตรการ AD/ตอบโต้การอุดหนุน (CVD) รวมถึงมีมาตรการ AC ต่อเอสเอ็มอีซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นกลางน้ำ และประชาชนขั้นปลายน้ำ รวม 5 สมาคม รวม 1,865 โรงงาน มีการจ้างงาน 102,900 คน ได้แก่ สมาคมเหล็กลวด 30 ราย สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย 171 ราย สมาคมผู้ผลิตเหล็กลวดแรงดึงสูง 14 ราย สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย 1,500 ราย และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย 1,150 ราย

จากนั้นสภาได้นำตัวแทนจาก 5-7 สมาคมเหล็กเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ซึ่งเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานเพื่อหามาตรการรองรับเยียวยาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ตามข้อเสนอที่เรียกร้องทั้งหมด 9 ข้อ (ตามกราฟิก) อย่างเร่งด่วน

ขอนำเข้าเหล็กหลังคา 6 แสนตัน

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวแทนสมาคมต่าง ๆ ได้เข้าร่วมคัดค้านการยกร่างกฎหมายนี้ในการประชุมรับฟังความเห็นก่อนประกาศร่างทุกครั้ง แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจความเห็นต่าง ๆ ที่เสนอไปก็ไม่ถูกนำไปปรับแก้ร่างกฎหมาย กระทั่งกฎหมายผ่านและจะมีผลบังคับใช้เดือนหน้า

“ขณะนี้เราไม่ได้ต่อต้านการออกกฎหมายเพราะเข้าใจว่าผู้ผลิตรายใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือ แต่เอสเอ็มอีจะเดือดร้อนก็ต้องมีมาตรการรองรับเยียวยาเช่นกัน”

โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเหล็กคุณภาพสูงที่โรงงานไทยไม่สามารถผลิตได้ หรือแม้ผลิตได้แต่ก็ไม่ยอมผลิตเพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งผู้ใช้ก็ยังจำเป็นต้องนำเข้า เช่น เหล็กหลังคา นอต ตะปู เหล็กต่อเรือ ต่อรถถัง โดยเฉพาะเหล็กหลังคาผู้ผลิตในประเทศผลิตได้ 4 แสน อีก 6 แสนต้องนำเข้า รัฐแค่ช่วยทันที เช่น ให้นำเข้าตามโควตา โดยสภาจะรวบรวมสมาชิกทั้งหมด และจัดสรรโควตานำเข้าให้สมาชิก ถ้าใช้วิธีการนี้จะช่วยอะลุ้มอล่วยทั้งผู้ผลิตและเอสเอ็มอีพบกันครึ่งทาง แต่หากปิดทางนำเข้า แต่สินค้าไม่พอก็ต้องนำเข้า ราคาสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ขอให้รัฐมองว่าประเด็นนี้เป็นการจำกัดสิทธิผู้ใช้ในการเลือกวัตถุดิบให้ใช้เฉพาะจากผู้ผลิตภายใน เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายใน ซึ่งหลายรายที่รัฐช่วยเป็นบริษัทจากต่างชาติ ซึ่งผลิตสินค้าไม่ได้ครอบคลุมมาตรฐานและไม่ได้ตามปริมาณที่ผู้ใช้ต้องการ การออก AC ครอบ AD จะยิ่งทำให้กระทบมากขึ้น เพราะผลจากมาตรการ AD ที่ผ่านมา ทำให้อู่เรือต้องปิดกิจการ 1 แห่ง พนักงาน 45 คนถูกเลิกจ้าง ขณะที่บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจถูกเรียกเก็บ AD 18 ล้านบาท ต้องดำเนินการฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ข้อสรุป

ไม่มั่นใจดุลพินิจการใช้ AC

ส่วนประเด็นนี้การพิจารณาใช้ AC ก็ต่อเมื่อกลุ่มบริษัทเหล็กหรือคู่แข่งของเราไปกล่าวหาว่าเรามีพฤติกรรมหลบเลี่ยง AD ทางกรมต้องเปิดไต่สวน ซึ่งเอกชนไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้ดุลพินิจของรัฐในการพิจารณาใช้มาตรการ อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากความไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ เกิดภาวะถดถอยทั้งหมด

หวั่นผูกขาด-ราคาภายในสูง

นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า หากบังคับใช้กฎหมายใหม่กรมจะแจงว่าภาษีนำเข้าจาก AC เพิ่มขึ้นไม่เกิน 7% แต่เรากังวลว่าผู้ผลิต 2 บริษัทในไทยมีกำลังการผลิตรวมกันไม่เกิน 335,000 ตัน (บีเอสไอ 80,000 ตัน และเอ็นเอส บลูสโคป 255,000 ตัน) ไม่พอกับความต้องการใช้ 1-1.3 ล้านตันต่อปี หากไม่เปิดให้มีการนำเข้ามาอีก 600,000 ตัน จะทำให้ผู้ใช้ คือ โรงรีดกว่า ประมาณ 700-800 โรงจาก 1,500 ราย ซึ่งแต่ละโรงมีการลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และยังจำเป็นต้องนำเข้าและต้องเสียภาษีสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เหล็กปลายทาง

“ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ สมาคมจะประชุมระดมความเห็นจากสมาชิกและผู้นำเข้า อาจต้องยกระดับการนำเข้า และรัฐควรยกระดับมาตรฐานสินค้าเป็นมาตรฐานบังคับให้สอดคล้องกับระบบสากล ไม่เพียงเท่านั้นรัฐควรพิจารณาถึงประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีทางเลือกด้วย เพราะปัจจุบันราคานำเข้าต่างกับราคาในประเทศมากกว่า 50% เช่น เหล็กสีในประเทศ กก.ละ 41-42 บาท แต่เหล็กนำเข้า กก.ละ 27-28 บาท ทั้งที่มีค่าขนส่งและภาษี AD ราคาก็ยังถูกกว่าเหล็กผลิตในประเทศ และหากใช้มาตรการปิดช่องการนำเข้าหมดทางเลือกแล้วราคาภายในจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ขอให้กรมการค้าภายในดูแลราคาจำหน่ายด้วย”

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ นายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ผลิตเหล็กให้เหตุผลว่ารัฐบาลต้องเร่งกฎหมายนี้ เพื่อแก้วิกฤตในอุตสาหกรรม เพราะมีปริมาณการบริโภคเหล็ก 19.3 ล้านตัน แต่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน หรือใช้กำลังการผลิตเพียง 38% นั้น ข้อเท็จจริง คือ ปริมาณการบริโภคเหล็กเท่ากับปริมาณการผลิตเหล็กภายในประเทศ บวกปริมาณการนำเข้า และหักลบปริมาณการส่งออก ถ้าเป็นเช่นนั้นอุตสาหกรรมไทยซึ่งไม่มีสินแร่เหล็กเป็นวัตถุดิบเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลายก็ต้องนำเข้าเหล็กพิกัด 7201-7207 มาผลิตในปริมาณที่เท่ากับเหล็กที่ผลิตได้ ภาครัฐควรตรวจสอบประเด็นนี้ด้วย