ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นโยบาย 7 สมาคมเหล็ก ฝ่าวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย

อัปเดตล่าสุด 10 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 692 Reads   

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” มอบนโยบายให้ 7 สมาคมเหล็ก ผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศกว่า 470 ราย เดินหน้าสู้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เร่งเดินหน้าหาตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน หวังพึ่งพาปริมาณการส่งออกให้มากขึ้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้ 7 สมาคมเหล็ก ซึ่งเป็นผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศกว่า 470 ราย ในการประชุมหารือระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในประเทศที่มีปริมาณการใช้เหล็กเพียง 19.3 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ 7.3 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตเพียง 33% ถูกสินค้านำเข้าแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศซบเซาลงเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ไปให้ได้ โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานดำเนินการอย่างใกล้ชิดร่วมกับ 7 สมาคมเหล็ก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กโดยเพิ่มปริมาณการส่งออก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้มีการใช้เหล็กภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อลดอัตราการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามแนะนำให้ผู้ประกอบการมองหาลู่ทางการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งมีกำลังซื้อเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรมยินดีให้การสนับสนุนและมีโครงการที่จะโรดโชว์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้วเพื่อหาตลาดใหม่ ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย 

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล และภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก รวมทั้ง ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นพิเศษ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันสนับสนุนและผลักดันให้มีการใช้สินค้าภายในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมเหล็กของไทยด้วยเพื่อให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น สำหรับการดำเนินงานของ สมอ. ขณะนี้ได้เร่งรัดแก้ไขมาตรฐานและกำหนดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรฐานที่อยู่ในขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ อีกจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่ 

  1. มอก. 50-2561 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก 
  2. มอก. 528-25xx เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้นรูป 
  3. มอก. 1228-25xx เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็นสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป 
  4. มอก. 1390-2560 เข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน 
  5. มอก. 1999-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์
  6. มอก. 2060-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานถังก๊าซ 
  7. มอก. 2140-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น สำหรับงานรถยนต์ 

 

และคาดว่าจะมีการประกาศมาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มในปี 2563 อีก 12 มาตรฐาน  ได้แก่ 

  1. มอก. 349 เหล็กลวดคาร์บอนสูง 
  2. มอก. 801 นั่งร้านท่อเหล็กกล้าแบบโครงสำเร็จรูป 
  3. มอก. 427 ท่อเหล็กกล้าสำหรับส่งน้ำ 
  4. มอก. 276 ท่อเหล็กกล้าคาร์บอนชนิดทนความดัน 
  5. มอก. 16 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก  
  6. มอก. 1279 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมปลอดดีบุก 
  7. มอก. 2183 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเดี่ยว สำหรับเคลือบดีบุก เคลือบโครเมียม/โครเมียมออกไซด์
  8. มอก. 2184 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นซ้ำ สำหรับเคลือบดีบุก เคลือบโครเมียม/โครเมียมออกไซด์
  9. มอก. 2817 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็นเคลือบโลหะ สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป 
  10. มอก. 2985 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น เคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนสำหรับงานรถยนต์ 
  11. มอก. 2981 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น เคลือบสังกะสี ผสมอะลูมิเนียม 59% ถึง13% และแมกนีเซียม 2% ถึง 4% โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 
  12. มอก. 2984 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน ที่ต้านการกัดกร่อนในบรรยากาศ สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ

 

เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อป้องกันการนำเข้าเหล็กที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เลขาธิการ สมอ. กล่าว