อียูปรับแก้มาตรการคุ้มครองสินค้าเหล็กเพื่อป้องกันการทะลัก หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่ม
อียูจะเริ่มทบทวนมาตรการคุ้มครองสินค้าเหล็กที่อียูเริ่มประกาศใช้มาตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2561 เพื่อป้องกันการทะลักของสินค้าเหล็กที่อาจจะเข้ามาในอียู ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเพิ่มเติม ซึ่งเดิมไทยมีสินค้า 1 รายการที่อยู่ในข่ายต้องถูกเก็บภาษีร้อยละ 25 หากมีการส่งออกเกินโควตาที่ได้รับ
เมื่อวันที่ 27 กันยายน อียูได้เผยแพร่กฎระเบียบที่ 2019/1590 ใน EU Official Journal เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสินค้าเหล็กที่ปรับใหม่ภายหลังการทบทวนดังกล่าว โดยในส่วนที่เกี่ยวกับไทยมีรายละเอียดดังนี้
(1) อียูยกเลิกการยกเว้นการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสําหรับสินค้าหมวดที่ 24 (Other Seamless Tubes) กับประเทศกําลังพัฒนาที่มีการส่งออกมายังอียูต่ำกว่าร้อยละ 3 เนื่องจากเมื่อรวมประเทศที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดพบว่ามีการนําเข้าในปี 2561 มากกว่าร้อยละ 9 ทําให้ไทยซึ่งเดิมได้รับการยกเว้นต้องอยู่ในข่ายที่จะถูกเก็บภาษีร้อยละ 25 หากมีการส่งออกเกินโควตา โดยผู้ส่งออกจะต้องขอรับการจัดสรรโควตาตามตารางการจัดสรรที่ปรับใหม่ท้ายกฎระเบียบ
(2) อียูปรับการจัดสรรโควตาสําหรับช่วง 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563 และช่วง 1 กรกฏาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564 ใหม่ โดยสินค้าหมวด 9 (Stainless Cold Rolled Sheets and Strips) ซึ่งไทยอยู่ในข่ายต้องถูกเก็บภาษีอยู่แล้ว มีการปรับลดการจัดสรรโควตาทั้งในภาพรวมและรายประเทศ
อนึ่ง นอกจากไทยแล้ว ประเทศกําลังพัฒนาในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการทบทวนมาตรการคุ้มครองดังกล่าวประกอบด้วย เวียดนาม (เพิ่มสินค้าที่อยู่ในข่ายต้องถูกเก็บภาษีจาก 3 หมวดเป็น 4) มาเลเซีย (เพิ่มจาก 1 หมวดเป็น 2) และอินโดนีเซีย (เพิ่มจาก 1 หมวดเป็น 4)
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com