หลายความเห็น จากผู้คร่ำหวอดวงการอุตสาหกรรมไทย กับการเปิดตัวสถาบัน SIMTec

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 883 Reads   

สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (Sumipol Institute of Manufacturing Technology - SIMTec) มีการเปิดตัวสถาบันอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ศูนย์กลาง EEC

สถาบัน SIMTec  คือ ศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ รวมถึงผู้ผลิตเครื่องจักรกล อุปกรณ์ เครื่องมือชั้นนำระดับโลก จากประเทศญี่ปุ่น วัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางด้านทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการฝึกอบรมที่เน้นการสาธิต และการปฏิบัติในหลักสูตรสาขาต่าง ๆ ให้แก่วิศวกร ช่างเทคนิคในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนครูผู้ฝึกสอน และนักเรียนนักศึกษา

ในงานเปิดสถาบัน SIMTec ได้รับความสนใจจากแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก ประกอบไปด้วยนักอุตสาหกรรมชั้นนำ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานราชการภาคส่วนอุตสาหกรรม คณะสื่อมวลชน รวมไปจนถึงผู้คร่ำหวอด และผู้มีคุโณปการต่อวงการอุตสาหกรรม สำนักข่าวอุตสาหกรรม M Report จึงถือโอกาสนี้ พูดคุยสอบถามความ “ คิดเห็นต่อสถาบัน SIMTec ” 
 

 

คุณภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถาบัน SIMTec ว่าเห็นความเป็นไปได้ถึงการพัฒนาบคลากรอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวก ก็อาจจะสูญเปล่าหากบุคลากรไม่สามารถตอบสนองต่อวิวัฒนาการเหล่านี้ได้ 

“ จากนโยบายที่รัฐบาลประกาศโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบัน SIMTec ซึ่งเป็นศูนย์เทคนิคในภาคส่วนเอกชน ที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรทางด้านทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมในยุค 4.0  ซึ่งสถาบัน SIMTec ถือเป็นความหวังในการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่จะสามารถตอบสนองต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะบุคลากรเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอมา แต่ต่อจากนี้ไป การพัฒนาคนอาจจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นที่สถาบัน SIMTec แห่งนี้ หากเรามีความตั้งใจที่จะแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมโลก แน่นอนว่าต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวก และมีคนที่มีศักยภาพสามารถควบคุม ต่อยอด ทั้งเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลได้ ” 

คุณภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ และเมื่อบุคลากรมีประสิทธิภาพ ย่อมเกิดภาพพจน์ในแง่ของการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลลดความกังวลต่อผู้ที่กำลังมีแผนการทุน และอาจส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า SIMTec จะสามารถนำพาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่จุดที่เรียกว่า Industry 4.0 ได้ในเร็ววัน ” คุณภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี กล่าวทิ้งท้าย

คุณถาวร ชลัษเฐียร Vice Chairman สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถาบัน SIMTec โดยเห็นควรที่จะต้องร่วมมือกัน สำหรับหน่วยงานและสถาบันที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาคนให้เท่าทันเทคโนโลยี

“ การที่สถาบันได้รับการสนับสนุนจาก 18 สถาบันชั้นนำด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นอีกขั้นของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม เป็นก้าวแรกที่จะเริ่มก้าวเดินไปสู่ศักยภาพของบุคลากรอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ จะได้ยินคำว่า อุตสาหกรรม 4.0 กันอยู่บ่อยครั้ง แต่จะเริ่มอย่างไรนั้นความชัดเจนยังค่อนข้างไม่แจ่มแจ้ง อุตสาหกรรม 4.0 อาจไม่ได้เริ่มจากเครื่องจักร แต่อาจต้องเริ่มที่คน ถ้าไม่มีการพัฒนาคน ถึงจะมีเครื่องจักรก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีเราสามารถซื้อได้ แต่ผู้ที่จะปฏิบัติการใช้เครื่องจักร ดูแลเครื่องจักร และนำมาซึ่งความสามารถในการต่อยอด คนเหล่านั้นคือใคร  และนี่คือความสำคัญที่เราต้องพัฒนาคน เหล่านี้จะพาเราก้าวไปถึง 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งสถาบัน SIMTec แห่งนี้ น่าจะสามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพดังกล่าวมาแบบ Big volume ได้ไม่ยากนัก ”

คุณถาวร ชลัษเฐียร  กล่าวเพิ่มเติมว่า “ นอกจากนี้ สถาบัน SIMTec ยังมีการหารือร่วมกับ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม  Industrial Transformation Center  ICT ชลบุรี , สถาบัน MARA ศูนย์พัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ Manufacturing Automation and Robotics Academy , TGI สถาบันไทย-เยอรมัน , ศูนย์ Ahrda Automotive Human Resource Development Academy เพื่อสร้างเป็นเน็ตเวิร์ก มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีวศึกษา ปัจจุบันมีการเริ่มพูดคุยวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกันกับวิทยาลัยแล้วกว่า 20 แห่ง ในภาคตะวันออก เหล่านี้คือแผนการพัฒนาบุคลากร โดยมีสภาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเราก็จะพยายามผลักดัน ให้ทุกกลุ่มที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคน มาร่วมกันเพื่อพัฒนาภาคการผลิตโดยการพัฒนาคนให้เท่าทันเทคโนโลยี เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรายังไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี เมื่อนั้นคือวันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยไร้ซึ่งศักยภาพและคุณภาพ ” คุณถาวร ชลัษเฐียร  กล่าวทิ้งท้าย

คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสาบันไทย-เยอรมัน ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถาบัน SIMTec ว่า เชื่อมั่นในความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของบริษัทสุมิพล ว่าน่าจะเป็นแรงหลักผลักดันในการพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

“ ตั้งแต่บริษัทสุมิพล มีความคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งสถาบัน SIMTec รวมถึงการหาผู้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการวางแผนบริหารจัดการ ใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 1 ปี ก็สามารถที่จะก่อรากสร้างฐานจนเจริญเติบโตขึ้นมาได้ และเมื่อพิจารณาจากแนวทางการบริหารจัดการ รวมถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของบริษัทสุมิพลแล้ว ค่อนข้างมั่นใจว่าสถาบันแห่งนี้จะเจริญเติบโตสามารถผลิตแรงงานฝีมือดี และน่าจะเป็นแรงหลักที่จะช่วยผลักดันในการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต โดยมุ่งไปที่พัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศได้มากทีเดียว ”

คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ หากพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งไม่ได้เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น เพราะมีความสำคัญเสมอมาทุกยุคทุกสมัย บุคลากรมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างคาดไม่ถึง เปรียบเสมือนหัวใจหลักของภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นบุคลากรจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทคโนโลยีเลย หากแต่บุคลากรนั้นแหละที่ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง ”  คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ President Thai Auto-parts Manufacturers Association ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถาบัน SIMTec ว่า….

“ คาดการณ์ว่า สถาบัน SIMTec จะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยสร้าง EEC ให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านของเทคโนโลยี ร่วมกับการพัฒนาบุคลากร โดยเทคโลยีของสถาบันแห่งนี้ ล้วนมาจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีระดับโลก ที่ต้องยอมรับว่า ในประเทศไทยเราเองนั้น มีความต้องการเป็นอย่างมากในการเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ตรงจุดนี้ ทั้งด้านฟังก์ชันการใช้งาน ภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎี รวมทั้งที่สถาบันแห่งนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเทคโนโลยีต่าง ๆ มาคอยแนะนำและให้ความรู้  ผนวกบวกกับการได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรม ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า SIMTec จะเป็นสถาบันที่ช่วยผลักดันบุคลากร ขับเคลื่อนเทคโนโลยี ในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้บรรลุอุตสาหกรรม 4.0 ”  

คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ หากเทคโนโลยีเป็นสมอง บุคลากรก็เป็นหัวใจ จากที่ได้ฟังเรื่องราวของประติมากรรมด้านหน้าของสถาบัน ก็ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากร จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบของประติมากรรมจากดิน เงิน ทอง เปรียบได้กับคนที่เข้ามาที่สถาบันแห่งนี้ แรกเริ่มอาจมีสถานะเป็นดิน หลังจากได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติแล้ว ก็อาจขยับสถานะไปเป็นขั้น ๆ คือการมีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นนั้นเอง ฉะนั้นผู้ที่ถึงขั้นสูงสุดก็สามารถเดินออกไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยที่มีความรู้ ความสามารถ ตรงนี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของทีมผู้บริหารของสถาบัน ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้อย่างแท้จริง ด้วยคอนเซ็ปต์การพัฒนาดินสู่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นการเปิดประตูสู่ปัญญาอย่างแท้จริง ” คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


"แรงกดดันจากเทคโนโลยี ควรสร้างพลังขับเคลื่อนต่อศักยภาพของคนให้มากขึ้น"