Digital Marketing สำคัญอย่างไร?

อัปเดตล่าสุด 12 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 3,245 Reads   

ปัจจุบันดิจิทัลกลายเป็นโลกอีกใบที่มีผู้บริโภคอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การสื่อสารในโลกปัจจุบันผ่านโลกดิจิทัลกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เข้าถึงผู้รับสารได้มากที่สุด ดังนั้น การทำ Digital Marketing จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการทำการตลาดในยุคปัจจุบัน 

ดร. ปอยหลวง โคนทรงแสน   ซีอีโอ บริษัท เดอะ แพลทฟอร์ม จำกัด Digital Marketing Agency  ได้ชี้แนะแนวทางการประชาสัมพันธ์ทางดิจิทัลยุคอุตสาหกรรม 4.0 และแนวโน้มดิจิทัลในมิติของสื่อไว้อย่างน่าสนใจ  ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักประชาสัมพันธ์ดิจิทัล ยุคอุตสาหกรรม 4.0” รุ่นที่ 1 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “โลกของการสื่อสารในโลกออนไลน์ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารของคนในสังคม”

 

 

การทำ Digital Marketing คือการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือแบรนด์ผ่านช่องทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Computer หรือ สมาร์ทโฟน โดยใช้ Online channel เป็นช่องทางในการส่งข้อมูล และเมื่อข้อมูลถูกส่งไปแล้ว ผู้ส่งสามารถรู้ผลตอบรับได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้รับข้อความสามารถเข้าถึงข้อความได้จากทุกที่ทุกเวลา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กระแสดิสรัปชันก็ไม่ยกเว้นให้กับวงการการสื่อสารและการโฆษณา รวมทั้งการทำ Digital Marketing ที่ต้องเผชิญกับเทคโนโลยีที่ใหม่ และแพลตฟอร์มที่แตกต่าง แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การสื่อสารในโลกออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารของคนในสังคม และเทคโนโลยีไม่ได้ถูกสร้างให้คนใช้ตาม แต่พฤติกรรมของผู้ใช้ต่างหาก ที่จะกำหนดเทคโนโลยีในโลกของสื่อออนไลน์  สิ่งนี้แหละที่เป็นหัวใจหลักที่ต้องเข้าใจเสียก่อน ก่อนที่จะทำการวางแผนการประชาสัมพันธ์ เพื่อผลลัพธ์และการตอบสนองที่มีคุณภาพ

Social Media ยังจำเป็นต่อการทำ Online marketing ในประเทศไทย
จากข้อมูลสถิติของ EDTA ระบุว่า  ในปี 2018  คนไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ยถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน และเป็น 1 ในประเทศที่มีการเข้าถึงโซเชียลมากที่สุด นั้นชัดเจนแล้วว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นหนทางที่สดใสของนัก Online marketing แต่เรื่องแพลตฟอร์มในการทำการตลาดดิจิทัลเป็นอีกด้านที่ต้องเรียนรู้   ซึ่งแพลตฟอร์มที่มีการเข้าถึงมากที่สุดคือ Youtube, Line, และ Facebook แพลตฟอร์มที่มีจำนวนการเข้าถึงที่เติบโตอย่างน่าสนใจคือ Instagram และ Twitter

 

ความท้าทายของการเลือกใช้แพลตฟอร์ม คือ ใช้แพลตฟอร์อะไร อย่างไร บอกใคร สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อสารหรือไม่ ?

ในด้านของผู้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็จะต้องทำให้ผู้ใช้ (User) อยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยที่ไม่หันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่  การพัฒนาฟังก์ชันการทำงานของแพลตฟอร์มตนเองจึงเป็นคำตอบที่ผู้สร้างจะต้องตระหนักและก่อให้เกิดการพัฒนาเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด 

ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะแน่นอนว่า ผู้ใช้งานทุกคนล้วนมีแอปพลิเคชันได้หลายตัว แต่อาจเลือกใช้แต่ละแอปพลิเคชันไปในสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น Youtube สำหรับวิดีโอภาพเคลื่อนไหว Instagram สำหรับรูปภาพ Facebook สำหรับเชื่อมต่อสร้างคอมมูนิตี้ ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายว่ามีการใช้งานบนแพลตฟอร์มใด จะช่วยให้ส่งสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ จากสถิติยังระบุได้อีกว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือนั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 27% จากช่องทางอุปกรณ์อื่น ๆ ทำให้สื่อดั้งเดิม (The Traditional Media ) มีการปรับเปลี่ยนบทบาทเข้าหาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในสมาร์ทโฟน 


Online Marketing ไม่ใช่แค่เรื่องการเพิ่มยอดขายเพียงอย่างเดียว

จุดประสงค์ของการทำ Online Marketing ส่วนใหญ่ หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเพื่อเพิ่มยอดขายเพียงเท่านั้น แต่นอกเหนือจากการทำ Online Marketing จะนำมาซึ่งรายได้และยอดขายแล้ว ผลพลอยได้ที่ผู้ทำ Online Marketing จะได้รับ คือ การสื่อสารกับลูกค้า ให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจแบรนด์มากยิ่งขึ้น การติดต่อลูกค้าได้โดยตรงจากช่องทางที่เข้าถึงง่าย จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ดีจากแบรนด์ ควรทำให้การซื้อขายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น สร้างความผูกพันแบรนด์ระหว่างแบรนด์และลูกค้าให้มากขึ้น จากการบริการหลังการขาย   


Search Engine Optimization (SEO)

การทำ Search Engine Optimization (SEO)  เป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่งบนโลกออนไลน์  การทำ SEO คือ การทำให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นไปติดอันดับต้น ๆ ใน Search Engine ชื่อดังอย่าง Google หรือ Bing เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ ซึ่งจากข้อมูลของ Internet Live Stats ระบุว่า “ทุก ๆ วันจะมีคนค้นหาข้อมูลบน Google มากกว่า 3,500,000,000 ครั้ง (หรือ 40,000 ครั้ง/วินาที)” จึงทำให้บริษัทส่วนมากต้องการที่จะเข้าไปติดบนหน้าแรกๆ ของ Search Engine แต่ก่อนจะทำ SEO ให้กับบริษัทของตนเอง คุณควรจะสำรวจพฤติกรรมว่าผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคุณนั้นมักจะค้นหาสินค้าด้วย “Keyword” อะไรบ้าง เพื่อนำมาสร้าง Content ให้สอดคล้องกับความต้องการ นอกจากนี้ควรที่จะปรับโครงสร้างและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 


Next digital marketing trend for 2019

1. Voice Search 
ในยุคนี้ที่อะไรๆ ก็ต้องรวดเร็วและเร่งรีบไปเสียหมด การใช้สมาร์ทโฟนด้วยการพิมพ์อาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อไปในอนาคต การพัฒนา  Voice Search  ในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนต่างๆ จะเริ่มเป็นที่นิยม และคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งานอุปกรณ์ที่รับคำสั่งได้ด้วยเสียงกว่า 50% ภายในปี 2020 

ดังนั้น การทำความเข้าใจความแตกต่างของการค้นหาด้วยเสียงและการนำไปใช้ในกลยุทธ์การตลาดจะเป็นเรื่องท้าทายที่นักประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิทัลอาจจะต้องมีค้นหาวิธีการจับคีย์เวิร์ดจากเสียง ให้มากกว่าเดิม ที่จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงการใช้งานในรูปแบบนี้ 

 

 

2. Chatbot

Chatbot คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง ถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีบทบาทในการตอบกลับการสนทนาด้วยตัวอักษรแบบอัตโนมัติผ่าน Messaging Application เสมือนการโต้ตอบของคนจริง ๆ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า โปรแกรมตอบกลับอัตโนมัติ ซึ่งเวลานี้กลายเป็นสุดยอดผู้ช่วยอัจฉริยะที่ทุกบริษัทต้องการนำมาใช้กับธุรกิจออนไลน์ ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการผสานเทคโนโลยี  ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าช่วยในการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Chatbot  นั้นได้รับการตั้งโปรแกรมให้เข้าใจคำถามพื้นฐานให้คำตอบและทำงานต่าง ๆ โดย Forbes รายงานว่า“ ในปี 2020 85% ของการมีส่วนร่วมของเรากับธุรกิจจะดำเนินการโดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น เราจะใช้ตัวเลือกการบริการตนเองและแชทแทน นอกจากนี้จากการสำรวจของ Oracle survey  ระบุว่า 80% ของธุรกิจกำลังเตรียมนำแชทบอทมาใช้งานภายในปี 2563 "

และในปี 2019 แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านแอปพลิเคชัน เช่น WhatsApp, Facebook Messenger และ Slack  เนื่องจากผู้บริโภคใช้เครื่องมือเหล่านี้รวดเร็วกว่าการรอตอบรับทางโทรศัพท์

 

3. Influencers Marketing

การประชาสัมพันธ์โดย  Influencer คือการนำบุคคลผู้มีอิทธิพล มาแนะนำสินค้า โดยส่วนใหญ่นั้น  Influencer จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย โดยแบ่งเป็น 

Macro  Influencer  ได้แก่  ดารา นักร้อง ศิลปิน 
Micro   Influencer  ได้แก่  บุคคลที่มีผู้ติดตามมากกว่า 50,000 คน
Nano   Influencer  ได้แก่  ผู้ใช้งานจริง 

การทำการตลาดในลักษณะนี้ จะสื่อให้เห็นว่าบุคคลหนึ่งมักจะมีอิทธิพลต่อบุคคลหนึ่งที่คนที่รู้จัก มากกว่าเชื่อการโฆษณา การทำประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน 


การทำ Digital Marketing เป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เข้าผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพราะในอนาคตการทำการตลาดจะไม่หยุดแค่ที่โลก Offline อีกต่อไป แต่จะยิ่งพัฒนามากขึ้นๆ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่นำมาให้เราได้เรียนรู้ ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยี