สมาร์ทโฟน 5G โอกาสธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ 2020 มาดูกัน ชิ้นส่วนไหนมาแรง

อัปเดตล่าสุด 15 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 2,135 Reads   

เครือข่าย 5G ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำมาใช้งานบางพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และเกาหลีใต้ในปี 2019 กำลังจะเกิดขึ้นจริงในปี 2020 นี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากสามารถคว้าโอกาสการเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน 5G ได้ ก็ย่อมนำมาซึ่งโอกาสทางการค้าที่มากขึ้น และมั่นคงอย่างแน่นอน

หนึ่งในผลิตภัณฑ์อันดับแรกที่จะออกสู่ตลาดในยุค 5G คือ สมาร์ทโฟน และระบบสถานีฐาน (Base Station) ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ต้องการความน่าเชื่อถือ และชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่ง Mr. Daiki Takayama หัวหน้าแผนกวิจัยจาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น จะเข้าสู่ตลาดนี้ได้ภายใน 3 - 5 ปี

โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น คือ Camera Actuator เนื่องจากสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่ง จะมีจำนวน Actuator มากขึ้น และต้องการประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีกล้องหลายตัว ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน และไม่มีแนวโน้มจะลดลงเร็ว ๆ นี้จากความต้องการกล้องคุณภาพสูงของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการฟังก์ชันอื่น เช่น การป้องกันการสั่นสะเทือน

Mr. Toshihiro Kuriyama ประธานบริษัท Alps Electric ผู้ครองส่วนแบ่งตลาด Camera Actuator จำนวนมากในตลาดโลก กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในตลาดมือถือราคาถูก จะแข่งขันกันที่ด้านราคา ส่วนในตลาดระดับกลางขึ้นไป ผู้ที่มีสินค้าดีกว่าจะได้เปรียบ”  ในขณะที่ Mr. Yasuo Sasao เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทแสดงความเห็นว่า “การแข่งลดต้นทุนในอนาคตจะรุนแรงกว่านี้”

Murata Manufacturing รายงานว่าปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ “MetroCirc” Multilayer Resin Substrate แบบงอได้ของบริษัทมีผู้สนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะมีลูกค้าให้ซัพพลายเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย Mr. Norio Nakajima ผู้บริหารอาวุโส แสดงความเห็นว่า “ในอนาคต จะมีคู่แข่งสำคัญอย่าง Modified-Polyamide (MPI) เกิดขึ้น แต่เรามั่นใจว่าคลื่นมิลลิเมตร (Millimeter-Wave Band) จะยังได้เปรียบ”

ผลิตภัณฑ์ถัดมาที่ความต้องการจะเพิ่มขึ้นสำหรับสมาร์ทโฟน 5G คือ ตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบขนาดเล็ก ความจุสูง ซึ่ง Murata Manufacturing ก็มีแผนผลิตจำนวนมากในปีนี้ 

ส่วนทางด้านของระบบสถานีฐานนั้น จะต้องการ MLCC ความจุสูง ทนแรงดันไฟฟ้าได้มาก ซึ่ง Mr. Toru Inoue ผู้บริหารอาวุโส แสดงความเห็นว่า “การเปลี่ยนผ่านจาก 4G สู่ 5G น่าจะทำให้ความต้องการ MLCC แบบ Sub-6GHz (MLCC สำหรับคลื่นความถี่ต่ำกว่า 6GHz) เพิ่มขึ้น 10% และสำหรับคลื่นมิลลิเมตรเพิ่มขึ้น 20%”

Mitsuru Nagata เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TDK แสดงความเห็นว่า “โอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นในกลุ่มชิ้นส่วนด้านคลื่นความถี่ เช่น Band-Pass Filter” ซึ่งทางบริษัทเองก็ได้ทำการผลิต Band-pass filter สำหรับรับส่งคลื่นมิลลิเมตรเพื่อสถานีฐาน G ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และเป็นรายแรกของโลกที่ใช้วัสดุ Low Temperature Co-fired Ceramic (LTCC) ในการผลิต


“MMC Series” Band-Pass Filter จากบริษัท TDK
(สนับสนุนภาพโดย TDK)

Mr. Norio Nakajima ผู้บริหารอาวุโสบริษัท TDK เชื่อว่าคลื่นมิลลิเมตร จะเป็นคลื่นความถี่หลักของยุค 5G อย่างไรก็ตาม การจะก่อกระแสขึ้นมาได้จำเป็นต้องมีการสาธิตให้เห็นเสียก่อน และเชื่อมั่นว่าโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 จะเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของคลื่นมิลลิเมตร
 
Mr. Akihiko Uchino นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Mitsubishi UFJ Securities กล่าวเสริมว่า “หากมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเลือกลงทุนให้ชัดเจน ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น” พร้อมแนะว่า ให้จับตาดูแนวโน้มจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในปีนี้ให้ดี

และในปี 2020 หนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ถูกจับตามองที่สุดคือ Apple ซึงมีกำหนดเปิดตัว iPhone โมเดลใหม่ในปีนี้ โดย Mr. Akihiko Uchino คาดการณ์ว่า จะมีโมเดลที่ใช้คลื่นมิลลิเมตรออกมาเป็นรุ่น Hi-End อย่างไรก็ตาม Mr. Daiki Takayama หัวหน้าแผนกวิจัยจาก Goldman Sachs แสดงความเห็นในทางกลับกันว่า “หากผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าสมาร์ทโฟน 5G ดีกว่ารุ่นก่อน ๆ จริง ก็อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ได้”