เค้กมอเตอร์เวย์ 6 หมื่นล้านแข่งเดือด “BTS-กัลฟ์” เต็งจ๋าสู้ “ทุนจีน-ยูนิค”
เป็นไปตามคาดที่ “ทล.-กรมทางหลวง” ประเมินจะมี 3 กลุ่มเข้ายื่นซองประมูลติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 61,086 ล้านบาท
ผลยื่นซองวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา มี 3 กลุ่มทุนยักษ์ตบเท้าเข้าร่วมสนามประมูล ว่ากันว่าแต่ละกลุ่มทุ่มทำราคากันจนวินาทีสุดท้าย
เผยโฉม 3 กลุ่มทุน
ประเดิมเจ้าแรก “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ที่ถือฤกษ์เวลา 09.00 น. มาพร้อมกับความมั่นใจสุดขีด ด้วยประสบการณ์บริหารทางด่วนมายาวนานร่วม 30 ปี
“สงวน คุณาธินันท์” รองกรรมการผู้จัดการวิศวกรรมทางพิเศษ บมจ.BEM กล่าวว่า ทางกลุ่มตัดสินใจยื่นในนาม BEM เนื่องจากมีคุณสมบัติพร้อมและเป็นธุรกิจหลักอยู่แล้ว งานนี้บริษัทก็สู้เต็มที่ หากได้งานจะให้ บมจ.ช.การช่าง บริษัทแม่เป็นพันธมิตรการก่อสร้าง วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท
ในช่วงบ่ายบรรยากาศเริ่มคึก มี “กลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC” ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีน ขนเอกสารประมูลร่วม 130 กล่องมาประชัน
งานนี้ “ยูนิค” บิ๊กโฟร์รับเหมาควง “CCCC” ยักษ์วิสาหกิจจากจีนและเป็นบริษัทแม่ของรับเหมาไชน่าฮาร์เบอร์ ซึ่งมีประสบการณ์บริหารทางด่วนและมอเตอร์เวย์ให้กับประเทศจีนมาขย่มขวัญคู่แข่ง
โดย “ยูนิค” ถือหุ้น 51% CCCC ถือหุ้น 49% ด้วยชื่อชั้น “CCCC” ทำให้รัศมีโดดเด่นเป็นเต็งหนึ่ง และทำให้บิ๊กเนมในประเทศเริ่มสะท้าน หวั่นสู้เกมถล่มราคาไม่ไหว
ปิดท้ายด้วย “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์” ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มี “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” ซีอีโอบีทีเอส และ “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” หัวเรือใหญ่ซิโน-ไทยฯนำทีมยื่นด้วยตัวเอง
งานนี้ “บีทีเอส” ถึงจะเชี่ยวชาญระบบเก็บเงินรถไฟฟ้า จะไม่ชำนาญธุรกิจระบบทางด่วนเท่าคู่แข่ง แต่ก็มี “บัตรแรบบิท” ที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้ครบวงจร
แถมยังผนึกพันธมิตรที่เงินทุนหนาจากธุรกิจด้านพลังงานมาเสริมแกร่ง โดยครั้งนี้บีทีเอสลงขัน 40% กัลฟ์ 40% ซิโน-ไทยฯ 10% และราชบุรีโฮลดิ้ง 10%
ส่วน “กัลฟ์” เข้ามาลงสนามแข่ง เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ระยะยาวเหมือนสัมปทานโรงไฟฟ้าที่เป็นธุรกิจหลัก และเป็นการแตกไลน์ธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยรับหน้าที่บริหารภาพรวมทั้งหมด เช่น การเงิน
จีน-บีทีเอส แข่งราคาเดือด
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มยูนิค-CCCC ดูเหมือนจะมีภาษีมากกว่าคนอื่น เพราะมีแนวโน้มจะฟันราคาต่ำ แต่ว่าบีทีเอสก็ทราบว่าสู้ราคาไม่ถอยเช่นกัน คาดว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้น่าจะฟันราคากันดุเดือด
“ทั้งนี้ มีแนวโน้มสูงที่กลุ่มบีทีเอสจะได้งาน เพราะมีเงินทุนหนา ขณะที่จีนโดยธรรมชาติแล้ว จะไม่ลงทุนโครงการที่เป็นระยะยาว ส่วน BEM น่าจะสู้ราคา 2 กลุ่มนี้ไม่ไหว” แหล่งข่าววิเคราะห์
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขั้นตอนจากนี้จะทยอยเปิดซองที่เอกชนยื่นมา 3 ซอง ในวันที่ 2 ก.ค. จะเปิดซอง 1 คุณสมบัติและประสบการณ์ หากผ่านแล้วเปิดซอง 2 ด้านราคาภายในเดือน ส.ค. และซอง 3 ข้อเสนออื่น ๆ
ทล.เซ็นสัญญาปลายปีนี้
กรมจะพิจารณาข้อเสนอเอกชนและต่อรองสัญญาในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2562 และเสนอขออนุมัติพร้อมลงนามสัญญา ร่วมทุนในเดือน ธ.ค. 2562
สำหรับการลงทุนมี 2 ระยะ ระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆ โดยบางปะอิน-โคราช ลงทุน 7,965 ล้านบาท บางใหญ่-กาญจนบุรี 6,089 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
ระยะที่ 2 เอกชนจะจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี ตลอดอายุสัญญาจะได้รับผลตอบแทนไม่เกิน 61,088 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา โดยสายบางปะอิน-โคราช ไม่เกินจำนวน 33,258 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกินจำนวน 27,828 ล้านบาท
ติดตั้งเสร็จปลายปี’65
“ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของเอกชนรายใดที่เสนอค่าตอบแทนต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากกรอบวงเงินที่ระบุยังเป็นผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น หลังได้เอกชนผู้ชนะแล้ว จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2565”
สำหรับการเปิดบริการสายบางปะอิน-โคราช คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบปลายปี 2565-2566 แต่หากการก่อสร้างเสร็จก่อนจะเปิดให้ใช้ฟรีไปก่อนในปี 2564 ด้านสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ยังติดเรื่องเวนคืนอาจจะเปิดเต็มรูปแบบในปี 2567-2568
นอกจากราคาที่ว่าจะแข่งกันดุเดือดแล้ว น่าลุ้น 3 กลุ่ม ใครที่จะเสนอระบบเทคโนโลยีทันสมัย ตรงกับสเป็กที่ “กรมทางหลวง” ต้องการ เพื่อยกระดับบริการมอเตอร์เวย์ประเทศไทยให้ทันสมัย แก้ปัญหาคอขวดหน้าด่านและรับกับระบบอีเพย์เมนต์ของรัฐบาลได้อย่างสมบูรณ์