บีโอไอแนะเอสเอ็มอีไทยผนึกกำลังร่วมลงทุนเจาะตลาดเพื่อนบ้าน
นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าปัจจุบันโอกาสการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้นเปิดกว้างอย่างมาก แต่ก็มีความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าการลงทุนของต่างชาติใน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแต่ละประเทศมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนไม่กี่ประเทศ และไทยถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ แต่ในช่วงหลังเริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้น เห็นได้จากอันดับการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เมียนมา นักลงทุนไทยถูกเบียดอันดับมาอยู่รั้งท้ายกลายเป็นกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ แทน ขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนท้องถิ่นในประเทศซีแอลเอ็มวี ยังได้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและให้ความสำคัญกับนักลงทุนจากทวีปยุโรป และญี่ปุ่นเนื่องจากมีศักยภาพสูง
สำหรับรูปแบบการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของไทยควรเข้าไปในรูปแบบคลัสเตอร์ หรือมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบริษัทจากญี่ปุ่นได้เปรียบในการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากการเข้าไปลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยมีกลุ่มบริษัทใหญ่เข้าไปลงทุนก่อนและมีกลุ่มผู้ผลิตรายเล็กเข้าไปรับช่วงการผลิตอีกทอดหนึ่ง
“นักลงทุนไทยจะต้องยกระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดว่าบริษัทจากประเทศจีนที่ลงทุนในต่างประเทศเขาจะลงทุน 2 ด้านคือ เข้าไปลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อเข้าไปหาเทคโนโลยีและพัฒนาองค์ความรู้ อีกด้านหนึ่งคือไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นการผ่องถ่ายเทคโนโลยีให้ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย เป็นการยกระดับการเข้าไปลงทุนต่างประเทศ” นายชูวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้การออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องอาศัยความพร้อมหลายมิติ ทั้งองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การตลาด การเงินระหว่างประเทศ ความรู้ความเข้าใจกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศ บริบททางด้านสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน
ที่ผ่านมาบีโอไอ พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC) มาตั้งแต่ปี 2554 จำนวน 15 รุ่น จบหลักสูตรไปแล้ว 546 ราย ซึ่งเข้าไปลงทุนและร่วมลงทุนในต่างประเทศแล้วจำนวน 179 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ และปิโตรเคมีและพลาสติก โดยประเทศที่ไปลงทุนมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอาเซียนคือ เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย รองลงมาคือกลุ่มยุโรป เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก ตามลำดับ ซึ่งในปีนี้อยู่ระหว่างการอบรม รุ่นที่ 16 และรุ่นที่ 17 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 59 ราย