022- อีอีซี-โรงงาน-ค่าน้ำ-ต้นทุน-East-Water

“อีสท์วอเตอร์”ขึ้นค่าน้ำอีอีซี นิคม-สภาอุตค้านเพิ่มต้นทุน

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,024 Reads   

อีสท์วอเตอร์ “ชิมลาง” ขอปรับขึ้นค่าน้ำภาคตะวันออกในอัตราตามจริง อ้างสารพัดเหตุผลตั้งแต่ลงทุนเพิ่มไปจนกระทั่งถึง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ ด้านผู้ประกอบการนิคมใน EEC ค้านหนัก จะส่งผลกระทบกับลูกค้านิคมที่จะต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้น หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่รัฐบาลออกไป road show ให้เข้ามาลงทุน แต่กลับเจอการปรับขึ้นค่าน้ำ แม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรมก็ไม่เห็นด้วย 
 
หลังจากที่นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water กล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมที่จะประกาศปรับโครงสร้างราคาค่าน้ำใหม่ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสะท้อนต้นทุนการสูบน้ำของแต่ละพื้นที่ (อัตราตามจริง) และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ช่วยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและสามารถประมาณการการใช้น้ำได้อย่างแม่นยำจากการทำสัญญาล่วงหน้าระหว่างลูกค้ากับบริษัทต้องการน้ำในปริมาณเท่าใด บริษัท “การันตี” จะจัดหาน้ำให้ตามสัญญาโดยลูกค้าไม่ต้องสต๊อกน้ำล่วงหน้า

อ้าง พ.ร.บ.น้ำฉบับใหม่

นายบดินทร์ อุดล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดข่าวภัยแล้ง ลูกค้าก็จะเกิดความตระหนก (panic) และแจ้งปริมาณความต้องการใช้น้ำเกินจริงเพื่อนำน้ำไปเก็บสต๊อก เป็นเหตุให้บริษัทต้องเพิ่มต้นทุนการสูบน้ำและมีผลต่อราคา ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาเป็นการวางแนวทางเพื่อจะสอดรับกับ พ.ร.บ.น้ำฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ยอดปริมาณการจ่ายน้ำดิบครึ่งปีแรกของปี 2562 มีปริมาณ 157.23 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้น 33.66 ล้าน ลบ.ม.จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 123.57 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำสำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 47%, กลุ่มอุปโภค 26%, สวนอุตสาหกรรม 12%, กิจการประปาของบริษัท 10%, กลุ่มโรงงานทั่วไป 5% โดยบริษัทมีรายได้จากการขายนํ้าดิบจำนวน 1,429.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 244.80 ล้านบาท คิดเป็น 20.66% เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2561 สาเหตุหลักจากรายได้นํ้าดิบที่เพิ่มขึ้นจากการใช้นํ้าของกลุ่มลูกค้าอุปโภคบริโภค

ซ้ำเติมอุตสาหกรรมใน EEC

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายในภาคตะวันออกต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ East Water ปรับขึ้นค่าน้ำ ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ปรับขึ้นค่าน้ำและปรับมาแล้วหลายรอบโดยให้เหตุผลว่า “ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้นและมีการลงทุนอ่างเก็บน้ำ” โดยอัตราค่าน้ำดิบปัจจุบันสำหรับอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง 11-13 บาท/ลิตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 9.90 บาท/ลิตร

ส่วนกรณีที่จะปรับขึ้นค่าน้ำด้วยการคิดอัตราตามจริงในแต่ละพื้นที่นั้น ทาง East Water ต้องให้รายละเอียดให้ชัดว่า อัตราที่เรียกเก็บใหม่เป็นผลมาจากต้นทุนอะไรบ้าง เช่น มีการลงทุนในพื้นที่ใด ยกตัวอย่าง บริษัทมีการลงทุนในพื้นที่ชลบุรีก็ควรจะเป็นต้นทุนค่าน้ำของชลบุรี ไม่ใช่เหมารวมเก็บทั้งภาคตะวันออกและที่สำคัญ East Water ต้องเข้ามาดูแลคุณภาพน้ำให้มากขึ้น ไม่ใช่คิดจะขึ้นค่าน้ำอย่างเดียว

“ส่วนข้ออ้างที่ว่า เอกชนตื่นตระหนกและทำการสต๊อกน้ำเป็นเหตุให้ East Water ต้องเพิ่มต้นทุนการสูบน้ำนั้น ฟังดูตลก เนื่องจากเอกชนแต่ละรายมีบ่อเก็บกักน้ำสำรองสำหรับใช้เพียงแค่ 4-5 วัน คงไม่มีใครเก็บสต๊อกน้ำไว้ในปริมาณมากมหาศาลอย่างที่กล่าวอ้าง และเท่าที่วิเคราะห์กันในหมู่ผู้ประกอบการ 3 จังหวัดใน EEC การปรับขึ้นค่าน้ำครั้งนี้จังหวัดที่น่าจะเดือดร้อนมากที่สุดคงจะเป็นชลบุรี เพราะระยะทางอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำและความหนาแน่นของโรงงานอุตสาหกรรมมีมากกว่า ส่วนใครจะได้รับผลกระทบเท่าใดนั้น ก็แล้วแต่ละอุตสาหกรรม อย่างโรงงานฟอกย้อม ก็จะได้รับผลกระทบมากหน่อย”

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าน้ำของ East Water ในภาวะการส่งออกของประเทศติดลบจากผลสงครามการค้าเท่ากับเป็นการ “ซ้ำเติม” อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก

ลูกค้านิคมอ่วมหนัก

ด้าน น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์เปอเรชั่น หรือ WHA ผู้ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างค่าน้ำของ East Water หลังจากนี้ก็คงมีหนังสือไปถึงทางบริษัทเพื่อ “คัดค้าน” การขึ้นค่าน้ำเพราะมองว่า การปรับขึ้นค่าน้ำจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากปรับขึ้นจริงทางผู้ให้บริการนิคมก็ “จำเป็น” ต้องปรับขึ้นค่าบริการกับลูกค้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

“เราไม่เห็นด้วย ไม่ปล่อยให้มีการปรับแน่ หากปรับขึ้นค่าน้ำแม้ว่านิคมฯ ไม่ได้เดือนร้อนเพราะเราสามารถปรับราคาค่าบริการกับลูกค้าที่ซื้อน้ำต่อจากเราได้ แต่เรามองว่า มันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ในขณะนี้รัฐบาลกำลังมุ่งที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติใน EEC ทำโรดโชว์ต่าง ๆ แล้วอยู่ ๆ บอกจะขึ้นค่าน้ำ ทำอย่างนี้นักลงทุนก็คงไม่มาแล้ว เราจะออกไป road show กันเพื่ออะไร”

ส่วนแนวทางการปรับตัวสำหรับการขยายการลงทุนในนิคมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จำเป็นต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อสำรองน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นางสาวจรีพรกล่าวว่า ต้องรอดูทิศทางค่าน้ำอัตราใหม่จะเป็นอย่างไร หากมีการปรับขึ้นมากจนรับไม่ไหวก็เป็นไปได้ที่ WHA อาจจะลงทุนหาแหล่งน้ำดิบเองก็เป็นไปได้

ขณะที่นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยมีการหารือในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราการเก็บค่าน้ำและภาษีน้ำมาแล้วหลายครั้ง ทางกลุ่มผู้ประกอบการ “ไม่เห็นด้วย” เนื่องจากการบริหารน้ำในปัจจุบันต้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือน้ำเกิน (น้ำท่วม), น้ำขาด (น้ำแล้ง), น้ำเสีย (บำบัดน้ำ) ซึ่งทั้งหมดนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องบริหารจัดการให้สมดุล โดยเฉพาะหากน้ำขาดจะมีแผนอย่างไรให้เพียงพอ

“ผู้ผลิตแต่ละโรงงานมีการบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วและนำกลับมาหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการเอง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และน้ำในส่วนนี้โรงงานเขาได้รับผิดชอบส่วนนี้ไปแล้ว ดังนั้นหากจะมีการเก็บค่าน้ำเพิ่มจึงไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเก็บตามระยะทางหรือเก็บตามประเภทธุรกิจก็ตาม มันไม่สมเหตุสมผล”

ส่วนการออกกฎหมายลูกในการจัดเก็บค่าน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นั้น ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาหลักเกณฑ์การเก็บค่าน้ำอยู่ คาดว่าอีก 6-7 เดือนจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว แต่หมวดที่ 4 เรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำกำหนดให้ใช้บังคับในอีก 2 ปีข้างหน้า (มาตรา 40-55 รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ การแบ่งประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการออกใบอนุญาตการใช้น้ำ) และยังมีประเด็นเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำที่จะมีการจัดเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะเฉพาะประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก