แนวทาง Toyota ฝ่าวิกฤตซัพพลายเชน

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 1,225 Reads   

Toyota ประกาศสิ้นสุดสภาวะฉุกเฉินแก่ซัพพลายเออร์ ยุติมาตรการเร่งผลิตของโรงงานต่าง ๆ นอกประเทศจีนและญึ่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการผลิตในจีนต่อได้ เหตุจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)  ฝ่ายบริหารของ Toyota Group เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางบริษัทสามารถหาชิ้นส่วนทดแทนได้แล้วเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) และการแบ่งกลุ่มซัพพลายเออร์ตามเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ใช้

โดยในกรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ Toyota ได้ปิดฐานการผลิตในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่กลางเดือนมกราคม และเปลี่ยนซัพพลายเออร์จากบริษัทในจีน มาเป็นบริษัทในประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว 

ฝ่ายบริหารของ Toyota Group เปิดเผยว่า สาเหตุที่ซัพพลายเชนของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ในระดับต่ำ เนื่องจากทางบริษัทไม่มีการสต็อกสินค้ามากนัก และผลิตตามยอดสั่งซื้อเป็นหลัก ทำให้การบริหารซัพพลายเชนมีความเข้มงวดอยู่เป็นประจำ

อีกข้อหนึ่ง คือ ทางบริษัทส่งเสริมให้ซัพพลายเออร์มีการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งซัพพลายเออร์ออกเป็นกลุ่มตามเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ในกรณีที่มีบริษัทใดไม่สามารถส่งมอบชิ้นงานตามต้องการได้ ก็จะสามารถนำบริษัทอื่นเข้ามาช่วยผลิตในส่วนที่ขาดหายชดเชยได้โดยสะดวก 

อย่างไรก็ตาม ซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Toyota ซึ่งรับผิดชอบการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ซัพพลายเชนที่เป็นจุดแข็งของ Toyota ในยุคนี้ จะเหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) หรือไม่ก็ยังต้องรอดู