Bosch เชื่อ อนาคตยานยนต์คือ “PACE” ไม่ใช่ “CASE”
ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตที่สรรหาเทคโนโลยีใหม่อย่างเช่น CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) เท่านั้น แต่ซัพพลายเออร์เองก็แสดงความต้องการนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา ซัพพลายเออร์แต่ละราย มีความเห็นที่ต่างกันไปตามแต่ละบริษัท และเทคโนโลยี เช่น บริษัทที่เล็งเห็นว่า CASE จะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุด ก็มีวิธีเกาะคลื่นลูกนี้ เช่น การเข้าซื้อกิจการบริษัทขนาดเล็กที่มีเทคโนโลยีที่ต้องการ
Robert Bosch GmbH หนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เข้าซื้อกิจการ Ride Sharing ของ SPLT บริษัทร่วมทุนระหว่างสหรัฐ และเม็กซิโก และกิจการจักรยานยนต์ไฟฟ้าในฝรั่งเศส เพื่อให้บริษัทมีเทคโนโลยี “เกือบจะผลิตรถเองได้ทั้งทัน” แต่ได้รักษาระยะห่างไว้ โดยไม่ผันตัวเป็นผู้ผลิตรถ และคาดการณ์ว่าจะร่วมมือกับค่ายรถในการเข้าสู่ตลาด Ride Sharing แทน
Dr. Stefan Hartung หัวหน้าผู้อำนวยการ Bosch Mobility Solution กล่าวแสดงความเห็นว่า “บริการด้านยานยนต์ จะเข้าสู่ความเป็นบริการส่วนบุคคลยิ่งขึ้น” ซึ่งเป็นเหตุผลให้ทางบริษัทตัดสินใจเข้าสู่ตลาดบริการด้านยานยนต์ โดยบริการส่วนบุคคล หมายถึง การปรับเปลี่ยนรูปแบบงานบริการที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และถูกคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ ในชื่อ PACE (Personalized Automated Connected Electrified) ถัดไป
Dr. Stefan Hartung แสดงความเห็นว่า “แนวคิดบริการส่วนบุคคล เริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นแนวคิดที่กำลังแพร่หลายในหมู่ผู้ใช้บริการด้านคมนาคม” ซึ่งแนวโน้มนี้ เริ่มปรากฏให้เห็นในการพัฒนา MaaS ซึ่ง Dr. Markus Heyn ผู้อำนวยการบริษัท Bosch แสดงความเห็นต่อว่า “ปัจจุบัน ซัพพลายเออร์ส่วนมากมีภาพลักษณ์แบบ B2B และมีบทบาทในการค้าขายกับผู้ผลิตรถเท่านั้น แต่ในอนาคต ซัพพลายเออร์จะมีความเกี่ยวโยงกับผู้ใช้รถมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม บริการด้านคมนาคมยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับซัพพลายเออร์ และไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ ความเข้าใจในความต้องการของทั้งผู้ผลิตรถ และผู้ใช้รถจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้