อัพเกรดอาชีวะ “อาเซียน” ปั้นบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน

อัปเดตล่าสุด 2 ก.ค. 2562
  • Share :

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สามารถพัฒนาบุคลากรและแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของเทคโนโลยี กระบวนการผลิตและการบริการแบบใหม่ในอนาคต คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการจัดการประชุมเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม โดยสำนักเลขาธิการอาเซียน มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเป็นครั้งที่ 9 โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะทำงานตัวแทนภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ในการปรับปรุงคุณภาพ ภาพลักษณ์ และผลลัพธ์ของการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (TVET) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมจะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแผนแม่บทการศึกษา 5 ปี ของสำนักเลขาธิการอาเซียน

“ดร.อาลาดิน รีโล” รองเลขาธิการด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นเสมือนเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ภาครัฐและภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันอาชีวศึกษา ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้สามารถสนองต่อความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจ คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเรียนรู้

เพื่อพัฒนาระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืน และยังเป็นเครื่องการันตีว่า นักเรียน นักศึกษา ที่จบด้านอาชีวศึกษา จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถมีอาชีพการงานที่ดีและเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ หรือระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 คณะทำงานภูมิภาคด้านความร่วมมือของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกจากภาครัฐ ภาคเอกชน สภาหอการค้าจาก 10 ประเทศ อาเซียน และตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้ร่วมหารือและระบุข้อเสนอแนะให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย

ข้อเสนอแนะดังกล่าวถูกนำมาสรุปในรูปแบบของรายงานหัวข้อ “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” โดยมีทั้งหมด 45 ข้อ และถูกแบ่งเป็น 9 หัวข้อใหญ่ โดยมุ่งเน้นในหลากหลายประเด็น เช่น การส่งเสริมคุณภาพและความสอดคล้องของกฎระเบียบและนโยบายระบบอาชีวศึกษาและฝึกอบรม การเสริมสร้างความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจในระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษากับภาคเอกชน

นอกจากนี้ บางหัวข้อถูกจัดให้อยู่ในหมวดประเด็นเร่งด่วน เช่น การจัดตั้งสภาความร่วมมือด้านการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ระหว่างภาครัฐและเอกชนให้สามารถขับเคลื่อนวาระด้านการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของประเทศ การพัฒนาระบบข้อมูลเรื่องทักษะแรงงานออนไลน์ และการจัดสรรงบประมาณประจำปีสำหรับการอาชีวศึกษา

โดยคณะทำงานภูมิภาคด้านความร่วมมือภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกอาเซียน ริเริ่มการทำรายงาน “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” ให้เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนริเริ่มหรือต่อยอดการปรับโครงสร้างระหว่างตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน ให้สามารถหารือและหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อลำดับความสำคัญหัวข้อในระบบอาชีวศึกษาของประเทศตนให้สอดคล้องกับรายงานด้วย

ภายหลังจากการประชุม รายงานประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียนจะถูกนำเสนอให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผนแม่บทการศึกษา 5 ปี ของสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป