"ฮิตาชิ" เดินหน้าบุก AI-IOT กางแผนปั้นไทยฮับอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 396 Reads   

"ฮิตาชิ" ลุยธุรกิจเอไอ-ไอโอทีโซลูชั่น ทุ่ม 50 ล้านผุดโชว์รูมนิคมอมตะซิตี้ ชูศักยภาพระบบลูมาดา หวังใช้เป็นฮับจับลูกค้าโรงงาน-โลจิสติกส์ทั่วอาเซียน กางโรดแมปเจาะเซ็กเมนต์อสังหาฯ-ราชการ-การแพทย์ภายใน 3 ปี ผนึกพันธมิตรเอสซีจีอัพเกรดโรงงานทุ่งสง พร้อมจับมือทีซีซี-บีเจซี ร่วมโครงการวันแบงค็อก พัฒนาโซลูชั่นการแพทย์ทางไกล 

นายโตชิอากิ ฮิกะชิฮาระ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิตาชิ จำกัด กล่าวว่า เริ่มรุกธุรกิจเอไอโซลูชั่นในประเทศไทยอย่างเต็มตัว เพื่อรับดีมานด์จากเซ็กเมนต์ต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ อสังหาฯ และการแพทย์ ที่จะเกิดขึ้นตามแผนไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมถึงการเป็นฮับด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน-ระบบขนส่ง อาคารสำนักงานอัจฉริยะ รวมถึงการวินิจฉัย-รักษาโรค ขณะเดียวกันไทยยังมีโรงงานของผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทอยู่แล้วช่วยให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่าย โดยลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท เปิดโชว์รูมและศูนย์ระบบเอไอ "ลูมาดา" (Lumada) ขนาด 350 ตร.ม. ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นับเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรับผิดชอบด้านผลิต และทำตลาดเกี่ยวกับเอไอโซลูชั่นในภูมิภาคนี้ทั้งหมด ชูจุดขายด้านวันสต๊อปเซอร์วิสจากโพซิชั่นยักษ์ธุรกิจมีความพร้อมทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงโนว์ฮาวในอุตสาหกรรมและธุรกิจหลากหลาย แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมลงทุนต่อเนื่องปั้นบุคลากรไทยให้เป็นผู้เชี่ยวชาญสำหรับรุกตลาดต่างประเทศต่อไป โดยแบ่งแผนรุกตลาดเป็น 3 ระยะกินเวลาถึงปี 2564


สำหรับแผนระยะแรกและระยะ 2 เน้นเจาะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มจากฐานลูกค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่มีอยู่เป็นโมเดลต้นแบบจูงใจผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการติดตั้งระบบไอโอทีในโรงงาน-ระบบขนส่งเพื่อวิเคราะห์และสร้างโซลูชั่น โดยทดลองสร้างโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการในไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มเชื่อมโยงระบบของแต่ละโรงงานเข้าด้วยกันเพื่อขยายความครอบคลุมและศักยภาพของโซลูชั่น คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปี 2563 ล่าสุดได้เซ็นเอ็มโอยูกับ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG-CBM) ติดตั้งระบบไอโอทีในโรงงานที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรวบรวมข้อมูลให้เอไอใช้สร้างโซลูชั่นด้านพลังงาน โลจิสติกส์ บริหารสต๊อกสินค้าและอื่น ๆ รวมถึงเตรียมเชื่อมระบบกับโรงงานแห่งอื่น ๆ ของเอสซีจีฯ ตามแผนระยะ 2 อีกด้วย 


ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการที่สนใจอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนระยะที่ 3 จะขยายการให้บริการไปยังเซ็กเมนต์อื่น ๆ เช่น อสังหาฯ ราชการและการแพทย์ ตามคอนเซ็ปต์สมาร์ทบิลดิ้งและสมาร์ทซิตี้ โดยขณะนี้ร่วมกับบริษัททีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด นำระบบไอโอทีและเอไอมาใช้บริหารจัดการอาคารในโครงการวัน แบงค็อก บริเวณถนนพระราม 4-วิทยุ เช่น ระบบความปลอดภัย ระบบอัตโนมัติสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อยู่อาศัย เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นอกจากนี้ด้านการแพทย์ยังร่วมมือกับ บีเจซี ซึ่งเป็นดิสทริบิวเตอร์อุปกรณ์การแพทย์ของบริษัท พัฒนาโซลูชั่น เช่น ระบบตรวจโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต เน้นตอบโจทย์การเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ห่างไกล


ทั้งนี้มั่นใจว่าระบบไอโอทีและเอไอลูมาดาจะมีส่วนช่วยผลักดันรายได้รวมให้เติบโตจาก 6 หมื่นล้านบาทในปีนี้เป็น 9 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2564 โดยมีสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวม