017-พัทยา-smart-grid-พลังงาน

ประเดิม “พัทยาเมืองอนาคต” 3 การไฟฟ้าลุยลงทุน “สมาร์ทกริด” 20 ปี

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 1,247 Reads   

เขย่างบฯลงทุนพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ “smart grid” 2 แสนล้าน สอดรับแผนพีดีพีใหม่ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบรับเทรนด์อนุรักษ์พลังงานอีก 15% ด้าน “3 การไฟฟ้าฯ” รับลูก สนพ.เร่งปั้นโครงข่ายดัน “พัทยา” นำร่องเมืองแห่งอนาคต

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนาระบบโครงข่ายอัจฉริยะ (smart grid) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าสัดส่วน 15% เข้าบรรจุในแผนพัฒนาตามกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (ปี 2558-2559) ระยะสั้น (ปี 2560-2564) ระยะปานกลาง (ปี 2565-2574) และระยะยาว (ปี 2575-2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ โดยวางงบประมาณการลงทุนตามแผนแม่บทนี้ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องสอดรับแผนพีดีพีใหม่

“อนาคตการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยผ่านระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ทาง สนพ.จึงให้ 3 การไฟฟ้า กฟผ. กฟภ. กฟน. และภาคเอกชน กำหนดทิศทางแผนการพัฒนาและการลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายของประเทศ”

สำหรับแผนระยะยาว มุ่งเน้น 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.เสาแรก จะประหยัดใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 8,700 ล้านบาท จากการวางโครงข่ายรวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ไฟช่วงพีกได้ 350 เมกะวัตต์ ลดการลงทุนได้ 7,500 ล้านบาท รวม 16,200 ล้านบาท 2.ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษา 3.ระบบไมโครกริดและกักเก็บพลังงานที่มีการผลิตเพื่อใช้เองและเชื่อมโยงสายส่ง โดยได้เริ่มนำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า กฟภ.จะเน้นลงทุนพัฒนาโซลูชั่น เพื่อรองรับไฟฟ้ารูปแบบดิจิทัล แอปพลิเคชั่นใหม่ เพื่อให้บริการผู้ใช้ไฟสามารถรับข้อมูลเรียลไทม์ โดยได้ลงทุนติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) 20,000 เครื่อง จะแล้วเสร็จกลางปีหน้า เพื่อลดรูปแบบการใช้พลังงาน และจำลองการใช้ไฟให้ประชาชนเมืองพัทยาเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) นำร่องแห่งแรกของ กฟภ.

“พัทยาเป็นเมืองเศรษฐกิจ มีความต้องการไฟฟ้าสูง มีการกระจายของผู้ใช้ไฟฟ้าหลายกลุ่ม ทั้งบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม ภาคธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม จึงเหมาะกับการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และพัทยามีนโยบายจะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะด้วย”

นายนพดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า พลังงานทดแทนจะมีบทบาทมากขึ้น กฟน.จึงเร่งทำแผนปรับปรุงระบบเพื่อรองรับผู้ใช้ไฟ 4 ล้านรายที่มีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ และอยู่ระหว่างศึกษาแนวโน้มการใช้ไฟเพิ่มขึ้นทั้งรถไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมามากขึ้น

น.ส.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เริ่มนำเทคโนโลยีกักเก็บ energy storage มาใช้ร่วมกับ 7 เขื่อนพลังน้ำของการไฟฟ้า ทั้งนี้ กฟผ.ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก 6,150 เมกะวัตต์ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน 2,725 เมกะวัตต์ ควบคู่แผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้ยืดหยุ่น (grid modernization) และรองรับการส่งไฟฟ้าเชื่อมภูมิภาค (grid connectivity) เพื่อรองรับพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มขึ้นด้วย