ขีดเส้น 15 ต.ค. 62 ลงนามสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 480 Reads   

การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความคืบหน้ามากขึ้นหลังคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เปิดการเจรจาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผานมา กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลโครงการ เพื่อหาข้อสรุปก่อนการลงนามสัญญาเพื่อเดินหน้าโครงการ ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม        
  
นายวรวุธ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกับกลุ่มซีพี เนื่องจากกลุ่มซีพียืนยันให้ รฟท. ส่งมอบพื้นที่โครงการทั้งหมดก่อนดำเนินโครงการ ทำให้ในวันที่ 30 กันยายน 2562 ทาง รฟท. จะนำเสนอรายละเอียดผลการหารือทั้งหมดรวมทั้งเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณา    

โดย นายวรวุธ ย้ำว่า รฟท. จะไม่มีการหารือกับกลุ่มซีพีอีก เพราะมีหลายเรื่องได้ข้อสรุปแล้ว ยกเว้นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ พร้อมกับยืนยันว่าในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ รฟท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้พร้อมกันทั้งหมดในครั้งเดียวได้ ดังนั้น ขั้นตอนจากนี้จึงเป็นหน้าที่ของ กพอ. จะพิจารณา ส่วนจะลงนามได้ทันวันที่ 15 ตุลาคมนี้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลุ่มซีพีจะยอมเซ็นสัญญาหรือไม่ 

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังได้ประชุมร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจาก สกพอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ พบว่าขณะนี้ได้ข้อสรุปเกือบครบทุกประเด็นแล้ว ยกเว้นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ โดยกรณีนี้ตามหลักการทั่วไปไม่มีโครงการใดที่ส่งมอบพื้นที่ได้ 100% และจะต้องยึดตามกรอบเอกสาร RFP ซึ่งกำหนดให้ส่งมอบได้ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่โครงการ พร้อมยอมรับเป็นห่วงว่าจะกระทบภาพรวมโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และความเชื่อมั่นของประเทศในอนาคต เพราะตามหลักการแล้วในการลงนามสัญญานั้น รฟท. จะต้องเป็นผู้กำหนดวันเอง ไม่ใช่เอกชนเป็นผู้กำหนด

ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงคมนาคม ระบุว่าเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) กำหนดให้ส่งมอบพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่โครงการ ส่วนประเด็นที่เจรจากับกลุ่มซีพีเสร็จแล้ว อาทิเช่น การจัดหาและให้เงินที่รัฐร่วมลงทุนโครงการ ซึ่งต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้เบิกเงินงบประมาณแทน รฟท. การให้สิทธิการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและสิทธิการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

ส่วนการให้ความร่วมมือกับเอกชนคู่สัญญา ในการประสานงานหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในการรื้อย้าย ปรับปรุง หรือก่อสร้างใหม่ของงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างในพื้นที่เขตทางรถไฟ ขณะนี้เจรจาในรายละเอียดเสร็จแล้ว และ รฟท. อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th