016-อุตสาหกรรมเหล็ก-มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม-โครงการรัฐ-EEC

ลุ้นโครงการรัฐใช้เหล็ก มอก. เล็งงานใหญ่รถไฟ-อู่ตะเภา-แหลมฉบัง

อัปเดตล่าสุด 8 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 629 Reads   

ทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กปี 2563 วิกฤตต่อเศรษฐกิจชะลอ เอฟเฟ็กต์อสังหาฯ-อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ชะลอตัว สมาคมเหล็กเดินสายวอนรัฐปรับเงื่อนไขหนุนใช้ local content มอก.ไทยในโครงการก่อสร้างรัฐ ประเดิม “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต-เหล็กลวด”

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ปี 2562 ภาคอุตสาหกรรมเติบโตค่อนข้างช้า ผลกระทบจากสงครามทางการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2562) อยู่ที่ระดับ 101.87 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6% และคาดว่าในเดือน ธ.ค. 2562 จะหดตัวถึง 7% ซึ่งจะส่งผลให้ปี 2562 MPI หดตัวถึง 3.8% จากที่คาดว่าทั้งปีจะโต 0-1% โดยประเภทอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างมากคือ รถยนต์หดตัว 21.8% เหล็ก-เหล็กกล้าหดตัวลง 9.4% และอาจหดตัวลงไปถึง 10.3%

สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มชะลอตัวอีกในปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กโลกชะลอตัว อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และยังมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ

“ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องมุ่งไปหาตลาด และโครงการใหม่จากภาครัฐ ผลักดันนโยบายใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ (local content) ให้ได้ ซึ่งก่อนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กได้หารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งรับจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว”

ล่าสุดนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน และสมาคม

ผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า ได้ยื่นหนังสือต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ สำหรับงานโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคไทย-จีน โครงการรถไฟฟ้า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เป็นต้น รวมถึงโครงการความร่วมมือต่าง ๆ

โดยเสนอให้พิจารณากำหนดสัดส่วนการใช้สินค้านับตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น วัตถุดิบขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป เพราะปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 12 ล้านตันแต่มีการอุปโภคเพียง 5 ตันเท่านั้น และให้พิจารณาใช้สินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยในงานโครงการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการนำเข้า

“อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการหดตัวของเศรษฐกิจ และยังมีการนำเข้าจากจีน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ไหลทะลักเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมากขึ้น หลายมาตรการยังไม่สามารถสกัดการแข่งขันราคาได้”

ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็ก อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ โดยในปี 2561 มีปริมาณการใช้เหล็กในประเทศ 19.3 ล้านตัน มีการนำเข้า 12 ล้านตัน มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 38% เท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศสูงถึง 80% และที่ผ่านมาไทยได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี) 14 กรณี และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) 1 กรณี