EEC vs. Eastern Seaboard เหมือน / ต่างกัน อย่างไร

อัปเดตล่าสุด 20 ก.พ. 2563
  • Share :

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0  เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งได้ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดย EEC ครอบคลุมพื้นที่กว่า 13,000 ตร.กม. มี 3 จังหวัดนำร่อง คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยการสนับสนุนและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจใน EEC นั้น รัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา เช่น มาตรการเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค ระบบขนส่งโลจิสติกส์ ทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกของนักลงทุนในรูปแบบของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร เป็นต้น

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา FIBO และผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สัมภาษณ์ถึง ความคืบหน้าของโครงการ EEC และฉายภาพให้ได้เห็นอนาคตของโครงการ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะเป็นหมุดสำคัญแห่งความยั่งยืน

 

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา FIBO และผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

“EEC ก็เปรียบเสมือนบทที่ 2 ของ Eastern Seaboard ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการพัฒนา 2 อุตสาหกรรมหลักของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นั่นคืออุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี”

 

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเปลี่ยนประเทศไทย จากสังคมเกษตร มาสู่อุตสาหกรรม และผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งจนถูกกล่าวขานว่าเป็น “Detroit of Asia” และมีขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์หลายต่อหลายรุ่น ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ช่วยให้อุตสาหกรรมพลังงานไทยไม่เคยเพลี่ยงพล้ำจนถึงทุกวันนี้

แต่แน่นอนว่าการลงทุนเพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้ จากเมื่อครั้ง Eastern Seaboard ประเทศไทยได้ลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้น 7-8% อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดการลงทุนแล้ว GDP ของไทยมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเป็นอย่างมาก  ในอีก 4 - 5 ปีข้างหน้านี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของโครงการ EEC จะเป็นไปตามเป้าอย่างน้อยประมาณ 80% ซึ่งถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในการนำเม็ดเงินมาสร้างผลผลิต ผนวกเข้ากับการลงทุนในส่วนอื่นทั้งจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สมาร์ทซิตี้ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและนวัตกรรมในส่วน EECi/EECd  การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา รวมแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท หากไม่รักษาแนวโน้ม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเกิดการหยุดชะงักเหมือนเมื่อครั้งสิ้นสุดการลงทุนของ Eastern Seaboard 

 

สิ่งสำคัญกว่า คือ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การเติบโตของประเทศไทยเป็นไปต่อได้อย่างไม่หยุดชะงัก ด้วยแนวคิดนี้เอง จึงเป็นที่มาของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ซึ่งจะเข้ามาช่วยส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ EEC โดยสนับสนุนให้เกิดการวิจัยร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมเป้าหมายและนักลงทุน

อีกหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับไม้ต่อหลังสิ้นสุดช่วงการลงทุนแล้ว คือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) พื้นที่เศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 ด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น AI, IoT, 5G, และอื่น ๆ

รศ.ดร.ชิต ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะของแรงงานที่ต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรม “กรณีการเข้ามาลงทุนของ Alibaba ได้มีการพูดคุยเพื่อให้ถ่ายทอดทักษะใหม่มายังแรงงานไทย โดยบอกไปตามตรงว่าจะกระตุ้นให้แรงงานเหล่านี้แยกตัวออกมาในอนาคต ซึ่งทักษะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปได้โดยไม่อาศัยการลงทุนเพียงอย่างเดียว”

 

5G, EEC, และประเทศไทย

จากที่ 5G ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในประเทศไทยบ้างแล้ว ทาง รศ.ดร.ชิต ได้แสดงความเห็นว่า “จากการไปดูงานมามากกว่า 10 ประเทศ พบว่าไม่มีประเทศไหนเลยที่สามารถทำกำไรจาก 5G ได้ ยกตัวอย่างเช่นในเกาหลีใต้ ซึ่ง Korea Telecom นำ 5G นำไปใช้กับธุรกิจสื่อบันเทิง การถ่ายทอดสดกีฬาผ่านกล้องนับพันเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่จริง หรือการฉายภาพโฮโลแกรม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดในสายตาของผู้บริโภคทั่วไป” 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคมักไม่อยากจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อความบันเทิง เป็นเหตุให้ราคาของบริการด้าน 5G ที่เกี่ยวข้องต้องปรับลด ส่งผลต่อผลประกอบการที่มียอดน้อยลงตามไปด้วย

ในอีกด้านหนึ่งคุณสมบัติสำคัญ 3 ข้อของ 5G คือ 1. Massive Bandwidth  2. Low Latency Communications และ 3. Multiple Machine Connection แม้ในทางปฏิบัติจะนำมาใช้งานทั่วไปได้จริง แต่ทั้ง 3 ข้อนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมต่อและบริหารจัดการข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งตอบโจทย์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเป็นอย่างมาก 

ซึ่งจากการสำรวจช่วงคลื่นที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้บริการนั้น พบว่า ช่วงคลื่น 700 MHz มีความเหมาะสมในการนำไปต่อยอดใช้กับ Smart City ในขณะที่ช่วงคลื่น 2600 MHz เหมาะกับ Industry 4.0

 

“5G ประเทศไทย มีโอกาสเกิด และทำกำไรได้ ถ้าลงทุนใน EEC”

รศ.ดร.ชิต คาดการณ์ว่า ประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศแรกที่ทำกำไรจาก 5G ได้ หากมีการลงทุนใน EEC สืบเนื่องจากการรวมกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมไว้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเหมาะสมแก่การนำเครือข่าย 5G มาใช้มากกว่าในประเทศที่มีโรงงานกระจายตัวอยู่หลายแห่ง สะดวกต่อการติดตั้งเสาสัญญาณ และการทำ Network Slicing อีกด้วย ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ


การเชื่อมต่อ และ โลจิสติกส์

อีกหนึ่งอุปสรรคที่โครงการ Eastern Seaboard ไม่อาจผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว นั่นคือการไม่มีสนามบินในพื้นที่ ทำให้โครงสร้างทางด้านโลจิสติกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นำมาซึ่งความไม่สะดวกของการจัดส่งสินค้า จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจากเดิมเป็นสนามบินทหาร ให้กลายเป็นท่าอากาศยานเพื่อการพาณิชย์ โดยสนามบินอู่ตะเภานี้จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่รอบสนามบินให้กลายเป็นมหานครการบิน หรือ “Aerotropolis” ศูนย์กลางการเชื่อมต่อธุรกิจและลูกค้า ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์จากแห่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างมาก
 

 

นอกจากการขนส่งทางอากาศแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ รองรับปริมาณเรือที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมไปถึงมีการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอีกด้วย

 

 

ส่วนการขนส่งทางบก มีโครงการที่รองรับคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (High Speed Rail Linking 3 Airports) โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ (Double-Tracks Rail Linking 3 Seaports) ซึ่งจะเชื่อมท่าเรือทั้ง 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้าหากัน และโครงการถนนทางหลวงและวงแหวนฝั่งตะวันออก (Highway & Motorways) เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าขึ้นอีกด้วย