016-ขาดแคลนแรงงาน-วิศวกรรมระบบราง-พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“วิศวกรไทย” ไม่พอก่อสร้าง EEC จ่อปลดล็อก “ใบวิชาชีพ” ดึงต่างชาติเสริม

อัปเดตล่าสุด 5 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 735 Reads   

“EEC-สภาวิศวกร” ยกร่างกฎหมายลูก ม.59 พ.ร.บ.EEC วางกรอบดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติช่วยงานก่อสร้างตามแผนอีอีซี หลังพบปัญหาแรงงานวิชาชีพทักษะสูงโตไม่ทันความต้องการใช้อีก 5 ปี คาดต้องการแรงงานเพิ่ม 5 แสนคน แง้ม “วิศวกรทางราง” ไทยมีแค่หลักร้อย เตรียมเปิดช่องรับรองใบประกอบวิชาชีพต่างชาติไม่ต้องสอบซ้ำในไทย แต่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้วิศวกรไทย

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า ผลจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินสนามบินอู่ตะเภา ทำให้ไทยต้องพึ่งพานักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญในด้านก่อสร้างและด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามมา แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ลงทุนใน EEC ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งไทยยังมีปัญหาขาดบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรในสาขาวิชาการใหม่ ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี การแพทย์ เมคาทรอนิกส์ ระบบราง แม้ระหว่างนี้จะมีหน่วยงานพัฒนาวิศวกรแต่อาจจะไม่สามารถพัฒนาวิศวกรในบางสาขาได้ทันเวลา จึงต้องดึงบุคลากรจากต่างชาติเข้ามาตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2560 มาตรา 59 กำหนดว่าให้คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิพิเศษอื่นใดตามมาตรา 48 (5) ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้

“ขณะนี้ทาง สกพอ.จึงร่วมกับสภาวิศวกรยกร่างกฎหมายลูกตามมาตรา 59 โดยจะเริ่มรับฟังความคิดเห็นยกร่างมาตรา 59 กำหนดกรอบไว้ว่า EEC สามารถเปิดรับบุคลากรผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานได้ โดยหากได้รับการรับรองจากหน่วยงานในต่างประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องขอใบรับรองจากสมาคมวิชาชีพในไทยอีก แต่ต้องผ่านการฝึกอบรมก่อนเข้ารับทำงาน”

อย่างไรก็ตาม ทางสภาวิศกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกังวลผลกระทบกรณีที่รับวิศวกรต่างชาติเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการแล้วเกิดปัญหาหลังจากสร้างเสร็จ และวิศวกรเดินทางกลับต่างประเทศไปแล้ว จะไม่สามารถดำเนินการกับวิศวกรผู้รับผิดชอบในโครงการได้ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมากจนเกินไป

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายกำหนดไว้ว่า 1. กรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด

2.สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมาย ว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้อํานาจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและอํานาจของคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นอํานาจของคณะกรรมการนโยบายด้วย

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าอีก 5 ปีข้างหน้าพื้นที่ EEC ต้องการแรงงานเพิ่มประมาณ 500,000 คน เป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไป 200,000 คน ต่ำกว่า ปวส. จนถึง ปวส. อีกประมาณ 250,000 คน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ล่าสุด ช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) 2562 พบว่า มีความต้องการแรงงานรวม 20,813 คน เป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไป 4,367 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 4,232 คน ระดับแรงงาน ป.6-ม.6 11,002 คน อื่น ๆ 1,212 คน โดยต้องการวิศวกรรมศาสตร์ 1,381 คน ใน 8 ประเภทกิจการ คือ เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร, แร่ เซรามิก และโลหะขั้นพื้นฐาน, อุตสาหกรรมเบา, ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ, กิจการบริการและสาธารณูปโภค และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรด้านระบบรางยังมีไม่เพียงพอ มีเพียงวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น ที่ป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมระบบรางได้เพียงหลักร้อยคน ดังนั้น รัฐควรเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ขึ้นมาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้อาจต้องอาศัยการนำเข้าวิศวกรทางรางจากต่างประเทศไปพลางก่อน แต่ต้องกำหนดกรอบเงื่อนไขระยะเวลาการทำงานและให้ถ่ายทอดความรู้ให้วิศวกรคนไทยด้วย

นายวิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ถือเป็นดิสรัปชั่นของวิศวกรไทยอย่างมาก มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กฎกติกาสากลแบบใหม่ ที่มีความซับซ้อน และต้องใช้เวลาก่อสร้างหลายปี ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวสร้างวิศวกรในสาขาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจัดทำ TOR เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย และวิศวกรเข้าไปแข่งขันทำงานได้ง่ายขึ้น