EEC ร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ต้นแบบเปลี่ยน ‘สนามบินอู่ตะเภา’ สู่ ‘มหานครการบินภาคตะวันออก’

EEC ร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ต้นแบบเปลี่ยน ‘สนามบินอู่ตะเภา’ สู่ ‘มหานครการบินภาคตะวันออก’

อัปเดตล่าสุด 10 ก.ย. 2562
  • Share :

โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการภาคตะวันออก เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของแผนการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังยกระดับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้ก้าวสู่การเป็นมหานครการบินของภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) โดยมีระยะเวลาการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาก่อนจะเปิดดำเนินการในปี 2566   

   
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) เพื่อที่จะนำประสบการณ์ของเจิ้งโจวซึ่งเป็นมหานครการบินในภาคกลางของจีน มาเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่รอบสนามบิน 30 กิโลเมตร ตั้งแต่พัทยา – ระยอง หรือมีพื้นที่รวม 415 ตารางกิโลเมตร ที่ถูกวางไว้ให้เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย โดยมีขอบเขตความร่วมมือสำคัญ ได้แก่
 
1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ในการพัฒนามหานครการบินด้านต่าง ๆ อาทิ การวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยวและงานวิจัย เป็นต้น
 
2. การส่งเสริมการลงทุนและการจัดทำระบบอีคอมเมิร์ซ ในพื้นที่ EEC และ ZAEZ
 
3. การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจร ระหว่าง EEC และ ZAEZ
 
4. การสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ระหว่าง EEC และ ZAEZ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต     
 
 
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจวจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการพัฒนามหานครการบินของ EEC เพราะใช้เวลาเพียง 5 ปี ในการพัฒนามหานครการบินได้อย่างสมบูรณ์ ขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารแล้วถึง 27 ล้านคน มีธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้ากว่า 515,000 ตัน คิดเป็น 60% ของประเทศ หมายความว่าจีนใช้สนามบินเจิ้งโจวในการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ว่าการพัฒนามหานครการบินจำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือผังเมือง ซึ่ง EEC สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการพัฒนาในพื้นที่ได้ เพราะ ZAEZ มีขนาดใกล้เคียงกับไทยที่ 415 ตารางกิโลเมตร โดยมีการพัฒนาแบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่
 
- โซนแรกเป็นสนามบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งต่าง ๆ การขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าทางอากาศ และคลังสินค้าอีคอมเมิร์ซ
- โซนที่ 2 เป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชีวการแพทย์, การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจวิจัยและพัฒนา และธุรกิจไอที เป็นต้น
- โซนที่ 3 เป็นการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย การศึกษา และบริการ โรงพยาบาลรวมถึงศูนย์การแพทย์ 
- โซนที่ 4 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์แสดงสินค้า  ซึ่งมีสถานีรถไฟความเร็วสูง Zhengzhou South Station เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 100,000 คนต่อวัน และทุกโซนจะมีพื้นที่สีเขียว รวมคิดเป็นกว่า 40% ของพื้นที่ทั้งหมด   
 
ทั้งนี้ นายคณิศ คาดว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คือจะรองรับการขนส่งสินค้าจาก ZAEZ  ซึ่งเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน โดยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น ผลไม้, อาหารทะเล, สัตว์ปีก, สัตว์มีชีวิต, อาหารสำเร็จรูป, ยา และอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้ผลไม้จากพื้นที่ EEC จะถูกส่งไปยังจีนผ่านระบบอีคอมเมิร์ช โดยเฉพาะเมื่อไทยทำ Eastern Fruit Corridor เสร็จแล้ว สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญไปที่ยังตลาดจีนและเข้าสู่ยุโรปได้ด้วย
 
นอกจากนี้ จะดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมไอที,  การบิน และอีคอมเมิร์ซให้เข้ามาขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC ได้มากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบัน ZAEZ  มีบริษัทด้านไอทีและสมาร์ทโฟนกว่า 60 ราย และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท, บริษัทธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ 431 บริษัท และบริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท ที่เข้าไปลงทุนแล้ว รวมไปถึงการความร่วมมือในด้านการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน  
 
“เราไม่ได้ทำการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบด้วย ซึ่งการเซ็น MOU ครั้งนี้ ไม่ได้เซ็นเล่น ๆ แต่ EEC จะได้เรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จของ ZAEZ ที่มีการพัฒนาสนามบินให้เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อกับระบบขนส่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา Aerotropolis และจำเป็นต้องวางแผนกิจกรรมที่อยู่รอบ ๆ สนามบิน เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมทั้งหมด” 
 
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในเดือนหน้า EEC จะไปเยือนเจิ้งโจวอีกครั้ง เพื่อจัดทำรายละเอียดร่วมกัน หากสามารถทำเรื่อง Cargo Link ได้ทั้งหมด จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจการขนส่งทางอากาศจะมาอยู่บริเวณอู่ตะเภา จากนั้นจะเริ่มการลงทุนร่วมกันได้ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก ที่คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือนกันยายนนี้ และเซ็นสัญญาได้ในเดือนตุลาคม 2562 ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ขณะนี้การบินไทยและแอร์บัสตกลงกันได้แล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในอีก 2 สัปดาห์ เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ลงทุนภายในสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 200 ไร่ จากเดิมกันพื้นที่ไว้ 500 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 300 ไร่ จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการซ่อมอากาศยานเพิ่มเติม 
 
 
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รูปแบบของสนามบินเจิ้งโจวจะเป็นโมเดลที่ EEC นำมาใช้ในการพัฒนาเมืองการบินของไทย สามารถเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านไปจีนต่อไปยังสหภาพยุโรปได้ด้วย เพราะเจิ้งโจวมีพันธะสัญญาด้านการค้าและการขนส่งกับทางยุโรป โดยในเดือนตุลาคม 2562 นี้ เตรียมคณะเดินทางไปเยือนมณฑลกวางตุ้ง, เซินเจิ้น และฮ่องกง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจตอนล่างของจีนมายังอาเซียนโดยผ่านไทย รวมทั้งไปศึกษารูปแบบการบริหารจัดการสนามบินเจิ้งโจว ซึ่งไม่ใช่แค่สนามบินแต่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ทั้งระบบราง, ทางบก, ทางเรือ และทางอากาศ ทั้งยังเป็นที่รวมและกระจายสินค้าจากทุกมุมโลก และเมื่อสนามบินเจิ้งโจวเป็นมหานครการบินของเอเชียตอนเหนือ สนามบินอู่ตะเภาก็จะเป็นมหานครการบินของอาเชียน และ CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย)
 
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ต้องการให้ EEC เริ่มพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งทางอากาศ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ไทยเชื่อมโยงคาร์โก้กับจีนได้ หมายความว่าสินค้าของไทยจะสามารถเข้าไปจำหน่ายได้ทั่วประเทศจีน และไปสู่ต่างประเทศด้วย ดังนั้นในฐานะมิตรกับมิตร และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
 
“เราอยากนำโมเดลและความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าของเจิ้งโจวมาใช้ในการพัฒนาเมืองการบินของไทย และจากความร่วมมือของไทยกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน จะเป็นปัจจัยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเปิดตลาดใหม่กับจีน ซึ่งตนเองมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนเมืองกวางตุ้งและเซินเจิ้นในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าลงทุนในไทยมากขึ้น และแม้ว่าขณะนี้จะมีปัญหาเศรษฐกิจโลกแต่จะไม่มีผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการนี้ เพราะเป็นการวางแผนระยะยาว” 
 
ด้าน นายหม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) กล่าวว่า EEC และ ZAEZ ต่างเป็นพื้นฐานในการพัฒนาร่วมกัน โดยรูปแบบการพัฒนามหานครการบินเจิ้งโจวจะเป็นรูปแบบใหม่ที่ขั้นแรกมสนามบิน หลังจากนั้นจึงปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ EEC จะนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองการบินได้ และเชื่อว่าทั้งสองจะได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านการกระจายสินค้าไปยังจีนทั่วประเทศ จึงพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญภายในเขต ZAEZ คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนกว่า 60 ราย ซึ่งหนึ่งในรายสำคัญ คือ Foxconn มีมูลค่าการลงทุนราว 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกำลังการผลิตสมาร์ทโฟน รวม 299 ล้านเครื่องต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 14% ของการผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลก โดยในอนาคตจะเพิ่มเป็น 400 ล้านเครื่องต่อปี
 
ขณะที่ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Biomedicine) และวัคซีน มีผู้พัฒนาผลิตทางการแพทย์ ยารักษาโรคกว่า 70 ราย พร้อมศูนย์ทดสอบ ภายใต้โครงการ “Life Zhengzhou” โดยมีกลุ่มงานวิจัยเป้าหมายในด้าน Stem Cell และ Immunotherapy โดยตั้งเป้าหมายเป็น “Second Houston Medical Hub” พร้อมโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง (Henan Cancer Hospital) ซึ่งมีรายได้ต่อปี 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีอุตสาหกรรมสมัยใหม่อีก 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
 
 
เปรียบเทียบศักยภาพ EEC vs ZAEZ
 
เมื่อเปรียบเทียบ ZAEZ กับ EEC พบว่า ZAEZ มีขนาดพื้นที่ 415 ตารางกิโลเมตร หรือ 259,375 ไร่ ซึ่งใหญ่เป็น 1.9 เท่าของ EEC Aerotropolis (139,375 ไร่ นับจากศูนย์กลางสนามบินรัศมี 10 กม.) โดยระยะแรกมีการพัฒนาในพื้นที่สนามบิน และรอบสนามบินชั้นใน ตั้งแต่ปี 2550 โดยมีเนื้อที่เริ่มต้น 49 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็น 4.6 เท่าของพื้นที่โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก (6,500 ไร่) ส่วนเป้าหมายในการพัฒนา ตั้งแต่ปี 2014 – 2040 หรือ 26 ปี ZAEZ มีพื้นที่ประมาณ 2.6 แสนไร่
 
 
 
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th