"Gen Z" คนหัวใส สร้างมิติใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิต
“Gen Z” กลุ่มประชาชนที่เกิดหลังช่วงปี 1995 มีจำนวนมากยิ่งขึ้น กำลังกลายเป็นที่น่าจับตามองจากอุตสาหกรรมการผลิต สืบเนื่องจากการได้สัมผัสเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน และมีความใกล้ชิดกับโซเชียลเน็ตเวิร์กตั้งแต่เด็ก จึงมีศักยภาพในการค้นหาข้อมูลสูง นอกจากนั้น ประชากรส่วนหนึ่งในกลุ่ม Gen Z ยังมีศักยภาพในฐานะผู้ริเริ่ม และผู้แก้ไขปัญหาอีกด้วย ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเล็งเห็นว่า ประชากรเหล่านี้ คือที่มาของความคิดอันแปลกใหม่ในธุรกิจของตน
ภายในงาน “Mono-Coto Innovation 2018” ซึ่งจัดขึ้นที่โตเกียว เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “Laughie” ผลงานจากทีมผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายรวม รวมทั้งหมด 4 คนเท่านั้น
“Laughie” คือชื่อของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าตาเหมือนต้นตะบองเพชรขนาดเล็ก ประกอบด้วยฟังก์ชันสำหรับบันทึก และเล่นข้อความเสียง โดยสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน พร้อมเล่นดนตรีที่เข้ากันกับข้อความนั้น ๆ ได้ โดยเมื่อมีข้อความเสียง ต้นตะบองเพชรนี้ จะส่องแสงขึ้นมา
ผู้พัฒนา กล่าวแสดงความเห็นว่า ในชีวิตประจำวัน มีหลายคนที่คิดสิ่งใดไว้ แล้วไม่กล้าพูดสิ่งนั้นกับคู่สนทนาโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในครอบครัวเดียวกันเอง จึงเกิดความคิดว่า หากสามารถพัฒนาเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดข้อความได้ โดยไม่ต้องพูดคุยกับคู่สนทนาโดยตรง จะเป็นอย่างไร
หลังผ่านการพัฒนาเป็นระยะเวลา 4 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ “ต้นตะบองเพชร” ซึ่งจะช่วยให้ “ครอบครัวที่แห้งแล้ง” มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ด้วยการตั้งเอาไว้ในห้องนั่งเล่น และแจ้งเตือนเมื่อมีข้อความด้วยไฟกระพริบที่ต้นตะบองเพชร เอาชนะกระทั่งทีมของ Denso และ Just ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูงไปได้สำเร็จ โดยได้ไอเดียมาจากการที่เมื่อคนในครอบครัวเดียวกัน สนทนาผ่านทาง LINE แล้ว จะเป็นการสนทนาที่สั้น และได้ใจความอย่างรวดเร็ว
Casio ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของทีม กล่าวว่า “ในช่วงแรก เราก็ค่อนข้างจะดูถูกเด็กพวกนี้อยู่พอควร อยากให้ไปเรียนรู้กระบวนการทำงาน ก่อนที่จะเริ่มคิดอะไรออกมา แต่ท้ายสุด เรากลับเรียนรู้จากเด็กเหล่านี้ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เด็กไม่มีข้อจำกัดในแง่ “ปัญหาของผู้ใหญ่” ซึ่งส่งผลให้มีอิสระทางความคิดสูงกว่า”
ไอเดียเด็กนักเรียน
“New Create” เป็นอีกทีมที่ได้ไอเดียมาจากเด็กนักเรียน และคว้ารางวัลลำดับ 2 ไปด้วย “Light” หุ่นยนต์ขนาดเล็ก สำหรับใช้ขนสัมภาระ ซึ่งมีที่มาจาก “การขนกระเป๋านักเรียน”
Mr. Tetsuji Hasegawa นักออกแบบ และกรรมการงานประกวด กล่าวแสดงความเห็นว่า “ผลงานชิ้นนี้ ไม่ได้ทำให้เด็กไม่ต้องไปเรียน เด็กก็ยังต้องไปเรียนเหมือนเดิม แต่สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับเด็ก ซึ่งในหนึึ่งวันต้องแบกกระเป๋าที่หนักเกือบ 10 กิโลกรัมแล้ว การได้เดินไปกลับพร้อมเพื่อน ๆ โดยที่ไม่ต้องรับภาระในการเดินทางนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก”
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล คือการออกแบบช่วงบน ซึ่งสามารถปรับขนาดให้พอดีกับสิ่งของที่ต้องการขนส่งได้ และคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์รุ่นนี้ จะถูกนำไปใช้โดยไม่จำกัดไว้ที่การใช้งานส่วนบุคคล แต่รวมถึงการให้เช่า หรือเป็นหุ่นยนต์สาธารณะที่จอดไว้ตามป้ายรถ และสถานีรถไฟอีกด้วย
Mr. Shigehiko Yoshizawa เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Inclusion Japan ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “เราไม่สนใจว่าทีมเข้าแข่งขันจะมาจากบริษัทใหญ่แค่ไหน เราสนใจแค่ไอเดียของผู้เข้าแข่งขันเท่านั้น”
อีกก้าวหนึ่งของอุตสาหกรรมท้องถิ่น
Rakuten ผู้ให้บริการ E-commerce รายใหญ่ประเทศญี่ปุ่น คืออีกบริษัทที่ตั้งใจนำความคิดของ Gen Z มาใช้ในทางธุรกิจ โดยได้เริ่มโครงการคัดเลือกเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมงานกับบริษัท ภายใต้โจทย์ “การแก้ปัญหาสังคม” ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และได้รับไอเดียที่ดีเป็นอย่างมาก ทั้งไอเดียที่ทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เช่น แนวทางการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวเมืองจากภัยพิบัติ และกระทั่งแนวทางด้านงานบริการ
Shizuoka Kenritsu Fugakukan High School หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ได้แสดงแนวคิดที่น่าสนใจไว้ภายในโครงการนี้ โดยใช้ “Fujinomiya Yakisoba” ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อจังหวัดชิซุโอกะเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งพบว่า สินค้านี้ เป็นสินค้าที่ขายดี และได้รับการยอมรับไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งที่เป็นสินค้าประจำจังหวัด แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกลับจำเป็นต้องสั่งซื้อจากจังหวัดอื่น จึงทำให้ “เป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตภายในจังหวัด” จึงริเรื่มเสนอแนวทางในการพัฒนาสินค้า โดยการใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวกระตุ้น และเปลี่ยนมาใช้ผลผลิตภายในท้องที่ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตในจังหวัดให้มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น
ความคิดอันเป็นเอกลักษณ์ และการลงมือทำ
อีกปัจจัย ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมองเห็นศักยภาพใน Gen Z คือ ความคิดอันเป็นเอกลักษณ์ และการลงมือทำ ซึ่งได้ยืนยันให้เห็นชัดแล้วในเวทีโลก เช่น Malala Yousafzai ผู้คว้ารางวันโนเบลสันติภาพในปี 2014
ในแง่ของความคุ้นเคยกับโซเชียลเน็ตเวิร์กเอง เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจ IT ซึ่ง Gen Z ที่คุ้นเคยกับยุคดิจิทัลมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการพัฒนา และการขาย รวมไปถึงทักษะการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ที่เป็นประโยชน์ในการทำตลาดเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลเช่นนี้เอง ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจับตามอง Gen Z มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากความพยายามผลักดันให้การเขียนโปรแกรม กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษานี้เอง