AI for Thailand ก้าวต่อไปของ "ไมโครซอฟท์"

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 444 Reads   

"ไมโครซอฟท์" บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมายาวนานก็หนีไม่พ้นกระแส "ดิสรัปต์" ณ วันนี้ยืนหยัดชัดเจนถึงแผนงานต่อไปที่จะสลัดภาพยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ ก้าวไปสู่การสร้างแพลตฟอร์ม พร้อมชู "AI" เป็นเป้าหมายสำคัญ
 
"ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมาไมโครซอฟท์พยายามดิสรัปต์ตัวเอง ถือเป็นปีแห่งการเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย บุคลากรก็ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ เพราะโลกทุกวันนี้ต้องล้มเร็วเพื่อให้เติบโตเร็ว ขณะที่ทุกองค์กรมีความท้าทายในการอยู่รอด
 
ภารกิจของไมโครซอฟท์จึงเป็นการทำให้ทุกคนนำเทคโนโลยีไปใช้ได้และนำไปใช้เป็น ทำให้เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัว ไม่ว่าจะเป็น IoT บล็อกเชน คลาวด์ AI โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้งาน โดยเฉพาะ AI ที่จะสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจากนี้ทางบริษัทจะเน้นการพัฒนา AI มากขึ้นภายใต้ทิศทางของไมโครซอฟท์ทั่วโลกและในไทย คือ การใช้แนวคิด "accelerate together" เน้นการทำงานร่วมกับทุกด้านทั้งในองค์กร, พาร์ตเนอร์, ภาครัฐ และลูกค้า
 
โดยเฉพาะการผลักดัน "AI for Thailand" เพื่อนำ AI มาใช้พัฒนาประเทศไทยด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ เอกชน และการศึกษา ซึ่งในอนาคตมีแผนจะตั้ง AI lab รวมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างกรอบหรือหลักเกณฑ์การใช้งาน เพราะมองว่าการทำงานของ AI ต้องมีมนุษย์ควบคุม
 
ในช่วงที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้ทำ"seeing AI" แอปพลิเคชันที่ช่วยให้อ่านข้อความและบรรยายลักษณะสิ่งต่าง ๆ เช่น ใบหน้า, อายุ เป็นต้น เพื่อช่วยผู้พิการทางสายตาหรือสำหรับใช้ในการศึกษาในการฟังการอ่านออกเสียงภาษาต่างชาติได้ แต่ยังไม่รองรับภาษาไทย  ดังนั้น จะเริ่มพัฒนา AI ที่เข้าใจภาษาไทย โดยเตรียมเปิดบริการ speech to text ที่รองรับภาษาไทยในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เพื่อเป็น API ที่จะอยู่ใน azure services ช่วยให้นักพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ นำไปใช้ต่อยอดได้ทันที
 
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ผลักดันโครงการ Coding Thailand เพื่อช่วยให้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่เด็กเยาวชน เนื่องจากคนไทยมีทักษะด้านนี้น้อยมาก และปีนี้จะเข้าไปเจาะกลุ่มวัยทำงานทั้งการเขียนโค้ดและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะเพิ่มทักษะให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้ 50,000 คน
"โครงการนี้ไมโครซอฟท์เคยทำที่สหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลา 8 อาทิตย์เปลี่ยนทหารเป็นดาต้าไซเอนทิสต์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดย 92% ของคนที่ร่วมโครงการมีงานทำ"
 
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานของไมโครซอฟท์ในปีงบประมาณ 2561 (ก.ค. 2560-มิ.ย. 2561) บริการคลาวด์เติบโต 48%, ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ 124%, โมเดิร์นเวิร์กเพลซ 31%,ไดนามิกส์ 365%, ระบบ ERP & CRM บนคลาวด์ โต 535%, surface 40% ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับ AIS เปิดตัว Surface Pro LTE ที่สามารถใส่ซิมการ์ดเพิ่มเพื่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ จากเดิมต้องเชื่อมต่อผ่าน WiFi เท่านั้น