ความก้าวหน้าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ = ความก้าวหน้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 16 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,313 Reads   

วงการหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์คึกคักมากยิ่งขึ้น จากการประสานความร่วมมือระหว่าง National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) และ Kawasaki Heavy Industries โดย AIST ได้เข้าสนับสนุนการพัฒนาระบบควบคุม และระบบขับเคลื่อนหุ่นยนต์ ได้เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีข้อต่อจำนวนมาก แต่สามารถควบคุมได้ด้วยคนเพียงคนเดียว และสามารถรักษาสมดุลของตัวเองได้ดีจนสามารถเต้นได้โดยไม่ล้ม พร้อมมุ่งผลักดันให้กลายเป็นนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ในอนาคต

ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์นั้น ต่างยอมรับว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาสมดุล ซึ่งหากหุ่นยนต์ล้มลงครั้งหนึ่งแล้ว อาจหมายถึงความเสียหายต่อชิ้นส่วนราคาแพงมูลค่ามหาศาล ด้วยเหตุนี้เอง การพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จึงต้องดำเนินไปทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

สมดุลของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์

เมื่องาน World Robot Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น Kawasaki Heavy Industries ได้นำ “Kaleido” หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่พัฒนาขึ้นไปแสดงศักยภาพในการรักษาสมดุลของตัวหุ่น ด้วยการเต้นโชว์ภายในงาน รวมถึงแสดงท่าทางยกแข้งยกขา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ที่ AIST พัฒนาขึ้นมา ซึ่ง Mr. Toshiya Okuma ผู้อำนวยการ Kawasaki Heavy Industries  กล่าวภายในงานว่า “ซอฟต์แวร์ของ AIST ช่วยลดภาระในการวิจัยชิ้นส่วนได้เป็นอย่างมาก”

ก่อนหน้านี้ AIST ได้ทำการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ “HRP-5P” ซึ่งสามารถทำงานในไซต์ก่อสร้าง ในส่วนงานติดตั้งและขันน็อตยิปซั่มบอร์ดซึ่งมีน้ำหนัก 11 กิโลกรัมได้โดยอัตโนมัติ ซึ่ง Mr. Yoshihiro Kawai หัวหน้าแผนพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ของ AIST ได้แสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์นั้น ไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ แต่สามารถนำไปใช้กับหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย” และปัจจุบัน ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้เพื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะอีกด้วย

นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ของ AIST ยังถูกนำไปใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัย “WAREC” อีกด้วย ซึ่ง MID Academic Promotion ผู้พัฒนาชี้แจงว่า เดิมที WAREC ที่มีขาทั้งหมด 4 ขา และแต่ละขามีข้อต่อ 7 จุดนั้น เป็นหุ่นยนต์ที่ควบคุมได้ยากมาก และไม่สามารถใช้พนักงานคนเดียวในการควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำซอฟต์แวร์นี้เข้ามาช่วยแล้ว ทำให้การควบคุมด้วยตัวคนเดียวประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ AIST ยังพัฒนาฟังก์ชันให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวรองรับการเขียนโปรแกรมควบคุมใหม่ระหว่างทำงาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างคล่องแคล่วยิ่งขึ้น เช่น การใช้ขาเตะสิ่งกีดขวางออกไปเมื่อมือไม่ว่าง 

Mr. Yousuke Matsusaka ประธานบริษัท MID ได้ชี้แจงว่า “ยิ่งซอฟต์แวร์ควบคุมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ได้ดีเท่าไหร่ การพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็จะยิ่งก้าวหน้า และทำให้โปรแกรมเมอร์เพียงคนเดียว สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”