VDW ไขกุญแจสู้วิกฤต สู่เครื่องจักรกลในอนาคต

อัปเดตล่าสุด 9 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 501 Reads   

German Machine Tool Builders’ Association (VDW) คาด ยอดผลิตเครื่องจักรกล (Machine Tools) ค่ายเยอรมันจะหดตัว 18% ในปี 2020 นี้ โดย Dr. Heinz-Jürgen Prokop ประธาน VDW แสดงความเห็นว่า “การลดลงของกำลังผลิต Machine Tools เป็นเรื่องแปลกมากสำหรับอุตสาหกรรมนี้ และเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้เท่านั้น” ซึ่งเป็นผลจากความต้องการ Machine Tools ที่ลดลงนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก 20% ในปีนี้ พร้อมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสองเทคโนโลยีสำคัญที่สุดสำหรับเครื่องจักรกลในอนาคต

รายงานยอดผลิตเครื่องจักรกล ค่ายเยอรมนี

VDW รายงานว่า ในปี 2019 ยอดผลิต Machine Tools ค่ายเยอรมันมีมูลค่ารวม 1.7 หมื่นล้านยูโร ลดลงจากปี 2018 เพียง 1% เท่านั้น โดย Dr. Heinz-Jürgen Prokop กล่าวว่า เป็นผลจากความต้องการในประเทศเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นถึง 16 % อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกลดลงถึง 9% ในปีเดียวกันนี้

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ นโยบายทางการค้า และสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า เป็นปัญหาที่ทั่วโลกประสบอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้การลงทุนเครื่องจักรโตไม่ถึง 1% ในปีนี้ ข้อมูลอ้างอิงจาก Oxford Economics ได้คาดการณ์ถึงผลกระทบต่อนานาประเทศว่า 

ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในระดับโลกน้อยที่สุด คือ ประเทศที่ตลาดเครื่องจักรมีขนาดเล็ก เช่น เวียดนาม ไทย สโลวาเกีย ฮังการี และโปแลนด์  

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ความต้องการ Machine Tools จากประเทศเหล่านี้ ก็ไม่อาจชดเชยกับตลาดใหญ่อย่างจีน สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศสได้ ทำให้คาดการณ์ว่า ในช่วงปีนี้ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันจะมีตัวเลขลดลงในด้านการผลิต การส่งออก การนำเข้า และการติดตั้ง

จากวิกฤตต่าง ๆ ในปี 2019 เป็นสิ่งที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน และใน 3 อันดับประเทศผู้ผลิต Machine Tools รายใหญ่ มีเพียงจีนเท่านั้นที่ทำยอดผลิตได้เพิ่มขึ้น 2% ในขณะที่เยอรมันลดลง 3% ซึ่ง Dr. Heinz-Jürgen Prokop แสดงความเห็นว่าเป็นตัวเลขที่รับได้ และเยอรมันยังคงติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศผู้ผลิตเครื่องจักรกลรายใหญ่ของโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการผลิตเครื่องจักรกลลดลงถึง 5%

อาจใช้เวลาอีกหลายปี อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันจะฟื้นตัว

Dr. Heinz-Jürgen Prokop แสดงความเห็นว่า แนวโน้มการลงทุนของกลุ่มลูกค้าหลักที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ความต้องการ machine Tools อาจลดลงถึง 20% ในปี 2020 และจะไม่มีการฟื้นตัวของยอดสั่งซื้ออย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาอย่างมั่นคง

การชะลอตัวของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นช่วงเวลาอันดีที่ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับการทบทวน และพัฒนานวัตกรรมของตน เพื่อให้รองรับยุค Digitization ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดสำหรับเครื่องจักรในอนาคต รวมไปถึงเทคโนโลยีสำคัญอื่น เช่น การเชื่อมไร้สายแบบเรียลไทม์, การสื่อสารระหว่างเครื่องจักรแบบครบวงจร, และระบบควบคุม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของผู้ใช้โดยตรง และอาจนำมาซึ่งโมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคต

อีกสิ่งที่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันมั่นใจ คือ Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยื่น ซึ่ง Machine Tools ค่ายเยอรมัน คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนสูงสุด ด้วยอายุการใช้งานของตัวเครื่อง และการสต็อกชิ้นส่วนไว้เป็นเวลานาน รับประกันการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถยกเครื่องใหม่ และใช้งานได้ในฐานะเครื่องมือสอง หรือกระทั่งเครื่องมือสาม ก่อนจะนำไปรีไซเคิลหลังหมดอายุการใช้งาน และคำนึงถึงการใช้พลังงาน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วย

ส่วนในกลุ่มลูกค้าหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะมีความต้องการเทคโนโลยีใหม่เมื่อไร แต่ที่แน่นอนคือ เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า, การลดไอเสียจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์, ระบบไฮบริด, แบตเตอรี่, และเซลล์เชื้อเพลิง จะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตต้องการ ผู้ผลิต Machine Tools จึงควรพร้อมตอบรับความต้องการเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งรายงาน “Drives in Transition” โดย VDMA คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตัวเลขจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใน 3 ตลาดยานยนต์ใหญ่ คือสหรัฐ ยุโรป และจีน จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% จากตลาดโลก 

นอกจากชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรม Machine Tools อีกด้วย