010-Energy-PDP-AEDP-พลังงานทดแทน-โซลาร์เซลล์

แผน AEDP 2018 เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน 30%

อัปเดตล่าสุด 2 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,776 Reads   

หลังจากรัฐบาลประกาศแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018 ) ไปแล้ว ถึงคราวการยกร่างแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (AEDP 2018) เพื่อให้สอดรับการแผน PDP และเทรนด์พลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เจ้าภาพใหญ่ ได้ระดมความเห็นต่อร่างแผน AEDP 2018 ไปครั้ง 5 เพื่อสรุปให้ทันเดดไลน์ในเดือนสิงหาคมนี้
 
แบ่งแชร์พลังงานทดแทน 30%

นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า AEDP 2018 จะต้องสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 (PDP 2018) มุ่งกำหนดแผนการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2580

หากกางแผนดูแล้ว เป้าหมายกำลังผลิตตามสัญญา “โรงไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่” แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โครงการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ (On grid) 10,000 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์แบบทุ่นลอยร่วมกับพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2,725 เมกะวัตต์ โครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP/VSPP ชีวมวล ลม ก๊าซชีวภาพ รวม 5,407 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ hybrid พลังน้ำ ของ พพ.เอง และโรงไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์

ลดสัดส่วน “เชื้อเพลิงชีวภาพ”

แต่ทว่าทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากเมื่อรวมแผน PDP 2018 แล้ว รวมกับกำลังผลิตตามสัญญามีพันธะผูกพันกับภาครัฐ จึงยังไม่ชัดเจนในแง่ผลิตไฟเข้าสู่ระบบสายส่ง ดังนั้น เบื้องต้นจึงได้ปรับ AEDP 2018 โดยเน้นสาระสำคัญ ประกอบด้วย 3 สัดส่วน ไฟฟ้า 4.27% เพิ่มเป็น 8.56% ภาคความร้อน 19.15% เพิ่มเป็น 21.12% ขณะที่สัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพ จาก 6.65% ลดลงเหลือ 3.04% รวม 30.02% จะเห็นว่ามีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และความร้อน แต่ลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงลง

ที่น่าสนใจคือ มีการเพิ่มแผนพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกภาคกำลังผลิตกว่า 10,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเพิ่มเป้าหมายไบโอมีเทนอัด (CBG) มาใช้ผลิตความร้อนทดแทนการนำเข้า LNG ด้วย เพราะดูจากทิศทางการใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันภาคขนส่งเป็นส่วนประกอบ ขณะเดียวกันลดเป้าหมายเอทานอลและไบโอดีเซลลง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต และปัจจัยภายในประเทศ ที่สำคัญ คือ ปริมาณวัตถุดิบอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่ดูบริบทของปริมาณร่วมกับหลายหน่วยงาน ควบคู่กับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

“ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างของศักยภาพของพลังงานทดแทน เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีทั้งอาคารธุรกิจและบ้านที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ใช้ไฟฟ้าสูง ศักยภาพการพัฒนาพลังงานทดแทนจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนนอกเขตเมืองจะมีศักยภาพการผลิตพลังงานที่หลากหลาย ทั้งจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร น้ำเสียและของเสียในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งพลังงานทดแทนนอกเหนือจากจะเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ด้วย” 

โจทย์ใหญ่และเป็นโจทย์ใหม่อีกเรื่องของ พพ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการส่งเสริม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่มุ่งเน้นให้เกิด 1 ชุมชน 1 พลังงานทางเลือก โดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุน ซึ่งต้องปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับเงินสนับสนุนโครงการภายใต้กองทุนฯ ประจำปี 2563 ใหม่ คาดว่าจะใช้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับฐานรากซึ่งนับเป็นหนึ่งในการบ้านชิ้นสำคัญของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ความท้าทายแผน AEDP

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลังจากนี้ยังเสียงเรียกร้องจากตัวแทนสมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชน ที่ขอให้กรมเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพ และปรับสมดุลเอทานอลที่ยังโอเวอร์ซัพพลาย 11.3 ล้านลิตร ขอให้ผู้ค้าน้ำมันรับซื้อเป็นโควตาเช่นเดิม และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนเชื้อเพลิงชีวภาพเฉพาะ รวมถึงความชัดเจนด้านการใช้เงินอุดหนุนน้ำมัน และการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พลังงานรักษ์โลกจะทำคู่ขนานไปกับชุมชนอย่างไร ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุด

นายฉัตรดนัย ฉัตรพลรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า หลายประเทศให้เอกชนเป็นตัวนำขับเคลื่อน รัฐบาลต้องประเมินการลงทุนให้ชัดเจนด้วยว่าในแต่ละระยะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อความมั่นคง