กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดเสวนาเจาะลึกกลยุทธ์บริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เชิญผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ระดับโลก เปิดเวที TILOG-LOGISTIX 2018 จัด Symposium เสวนาเจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ของโลกโดยเฉพาะเอเชีย พร้อมเผยกลยุทธ์บริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chain หนุนทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ปรับตัวรับการขยายตัวตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดงาน Symposium ภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ (TILOG-LOGISTIX) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลสถานการณ์การค้า และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจของไทยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ตอบรับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทย ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน Symposium 2018 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chain หรือ ทิศทางในอนาคตของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคมนี้ ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
“Symposium 2018 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การบรรยาย และการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ระดับนานาชาติ ผู้ร่วมงานจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ และแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปีนี้จะเน้นไปที่โลจิสติกส์สินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ผู้ร่วมงานสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจันทิรา กล่าว
ในส่วนของ การบรรยาย ปีนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน มาร่วมบรรยาย 5 ท่าน ประกอบด้วย
ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค (Drs.Tom Den Hertog) อดีตประธานบริหาร Ahold Asia Pacific (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) ผู้บุกเบิกและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการค้าปลีกและซัพพลายเชนอาหารผักผลไม้สดระดับโลก บรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโซ่อุปทานอาหารของโลก” เปิดเผยถึงเทคโนโลยีการพัฒนากลยุทธ์และนวัตกรรมของธุรกิจชั้นนำในโซ่อุปทานอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป
นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ (Mr.Tej Mayur Contractor) ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในวงการโลจิสติกส์ ผู้นำนวัตกรรมมาพัฒนาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce, Multimodal Transportation และ Last Mile Delivery บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์ของโซ่อุปทานอาหารในเอเชีย” ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในระบบการจัดการโซ่อุปทานอาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูง
นายจอห์น พาร์ค (Mr.John Parkes) ผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค (Fast Moving Consumer Goods: FMCG) บรรยายในหัวข้อ “ระบบโลจิสติกส์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค” กล่าวถึงเทคโนโลยีระบบการค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ซึ่งบูรณาการการค้าออนไลน์ การค้าออฟไลน์ ระบบโลจิสติกส์ และข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค
นายริชาร์ด เหย่ (Mr.Richard Yeh) ประธานกิตติมศักดิ์ของ Taiwan International Logistics Supply Chain และที่ปรึกษารัฐบาลไต้หวันในการส่งเสริมมาตรฐานสากลสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตร บรรยายในหัวข้อ “การจัดการโซ่ความเย็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกษตรกรรม” เปิดแนวคิดใหม่ด้านการบริหารจัดการโซ่ความเย็น เพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้า ยืดอายุการเก็บรักษา ลดต้นทุนการขนส่ง และการลดความเสี่ยงในการจัดการสินค้าควบคุมอุณหภูมิ
นายโทนี่ หยิน (Mr.Tony (Zhigao) Yin) ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ จากประเทศจีน บรรยายในหัวข้อ “แพลตฟอร์มการค้า B2B ระดับโลก” เปิดเผยถึงโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดสู่ผู้ซื้อระดับองค์กรทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Alibaba.com ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business e-Commerce) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ
สำหรับ การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จัดขึ้น 2 หัวข้อ ได้แก่ “โอกาสและความท้าทายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานอาหารและสินค้าเน่าเสียง่าย” โดย นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ส่งเสริมและผลักดันมาตรฐานสากลร่วมกับระบบการสืบย้อนกลับ (Traceability) ในทุกกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า นายเรมอน กฤษณัน (Mr.Raymon Krishnan) ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานระหว่างประเทศ พร้อมด้วย ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค และ นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ และหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โซ่ความเย็น” โดย นายซาลดี้ย์ อิลฮัม มาสิตา (Mr.Zaldy IIham Masita) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และซัพพลายเชนที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปี ในบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง นายเลอย์ ดุย เฮียบ (Mr.Le Duy Hiep) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และห้องเย็นมาตรฐานสากล พร้อมด้วย นายริชาร์ด เหย่ และ นายโทนี่ หยิน โดยมี นายไกรซาร์ กีลิตวาลา (Mr.Kraisar Gilitwala) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ การตลาด อีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ