007-ตราด-ขาดแคลนแรงงาน-กัมพูชา

เกษตร-อุตฯตราดวิกฤตแรงงาน “กัมพูชา” เลือกกลับบ้าน-หลังจีนลงทุนใหญ่

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 550 Reads   

ภาคเกษตร-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมตราดขาดแคลนแรงงานกัมพูชาอย่างหนัก เหตุจีนแห่ลงทุน “สีหนุวิลล์-เกาะกง” แรงงานมีทางเลือก ขณะที่เข้ามาทำงานในไทย ยุ่งยาก-เสียค่าใช้จ่ายสูง “หอการค้า-สภาอุตฯ-สภาธุรกิจท่องเที่ยว” ร้องรัฐผ่อนปรนกฎระเบียบ “บอร์เดอร์พาส” นำเข้าแรงงานสอดคล้องกับการทำธุรกิจ ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย พร้อมดิ้นเจรจาทำข้อตกลงร่วมจังหวัด “พระตะบอง-โพธิสัตว์” สนับสนุน อำนวยความสะดวกมาทำงานในไทย
 
จังหวัดตราดได้รับการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างชาติกัมพูชาตามมาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2558 และให้แรงงานกลุ่มที่เข้ามาทำงานลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล (ตามมาตรา 64) ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดตราดประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เนื่องจากมีนักธุรกิจจีนเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาในหลายเมือง ทำให้แรงงานกัมพูชามีทางเลือก และไม่กลับมาทำงานที่ประเทศไทยอีก และการเข้ามาทำงานที่ไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือผ่านแดน (border pass) สูงกว่า 5,000 บาท/คน มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน มีนายหน้ารับทำบวกเพิ่มไปอีก ซึ่งปกตินายจ้างต้องสำรองเงินก่อน และกระบวนการบริหารจัดการแรงงานไม่คล่องตัว ดังนั้น ทางหอการค้าจังหวัดตราดจะนำเรื่องดังกล่าวในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ซึ่งจัดขึ้นสุดสัปดาห์นี้ ที่จังหวัดลำปาง เพื่อขอให้ทางหอการค้าไทยเสนอภาครัฐผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบที่สอดคล้องกับสภาพการทำงาน โดยเฉพาะฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ช่วงสั้น ๆ เดือนเมษายน-กรกฎาคม ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท เพื่อให้นายจ้าง แรงงานได้รับความสะดวก ไม่ผิดกฎหมาย และลดค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ

“ปกติแรงงานใช้บอร์เดอร์พาสนำเข้าตามฤดูกาล อนุญาตให้ 90 วัน แต่สภาพจริงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ หรือ 1-2 เดือน จะใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเช่นเดียวกันทุกสาขาอาชีพไม่ได้ ควรยกเว้นค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าประกันสุขภาพ (ระยะเวลา 3 เดือน) นายจ้างควรเป็นระบบเครือข่ายที่มากกว่า 1 คน เพื่อให้แรงงานมีงานทำต่อเนื่องตลอด หรือระบบเชื่อมโยงการใช้แรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกัน เช่น แรงงานเก็บลำไย อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ย้ายมาเก็บผลไม้ จ.ตราด รวมทั้งพัฒนาระบบการแจ้งเปลี่ยนนายจ้างทางอินเทอร์เน็ตเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ปัญหานี้ได้นำเสนอคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หอการค้าไทย ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้”

นายวุฒิพงศ์กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดตราดควรมีข้อตกลงร่วมกันกับจังหวัดพระตะบอง โพธิสัตว์ ช่วยสนับสนุนแรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานด้วยการทำบอร์เดอร์พาสให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากแรงงานในพระตะบองมีไม่เพียงพอ ต้องนำแรงงานจากจังหวัดอื่นมา เช่น ตาแก้ว กัมปงชนัง กัมปงจาม ที่อยู่ไกล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องย้ายสำเนาทะเบียนบ้านมาพระตะบอง และการเดินทางเข้ามาใช้เวลารอเอกสารที่ชายแดนอีก 5-7 วัน ล้วนแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายแรงงานสูงขึ้น

นายสุทธิรักษ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดตราดมีขนาดเล็ก ใช้แรงงานคงที่จำนวนไม่มากนัก แต่ภาพรวมโรงงานขาดแคลนแรงงานทั้งที่มีและไม่มีทักษะ ประมาณ 200-300 คน ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ปกติใช้แรงงาน 170-180 คน แต่ตอนนี้เหลือ 100 คน ทำให้ต้องลดการผลิตลง ทั้งที่มีออร์เดอร์ลูกค้าจีนทยอยเข้ามาในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม แม้ให้ค่าแรง 400-1,000 บาท แต่ยังหาแรงงานยาก ทั้งนี้ การใช้บอร์เดอร์พาสกำหนดเวลา 90 วัน นอกจากเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5,300 บาทเศษ/คน ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดน ทั้งค่าธรรมเนียม ตม. ทั้งฝ่ายกัมพูชา-ไทย ค่าเดินทาง รวมทั้งไม่ได้รับค่าจ้างที่หยุดงาน รวม 1,500-2,000 บาท/คน/ครั้ง ดังนั้น ทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายในการทำบอร์เดอร์พาสลดลง และการประทับตราที่ ตม.สะดวกขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวได้นำเสนอสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้ว และเตรียมเสนอผ่านที่ประชุม กรอ.จังหวัด เพื่อนำเสนอที่ประชุม กรอ.กลาง ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนไปได้

รายงานข่าวจากสำนักตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า การใช้หนังสือข้ามแดน (border pass) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558-2562 คือ ปี 2558 70,000 คน, 2559 94,000 คน, 2560 140,000 คน, 2561 150,000 คน และ 2562 (ม.ค.-พ.ย. ) 130,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานด้านการก่อสร้าง รีสอร์ต ด้านภาคเกษตรมีน้อย