25 ปี การเดินทางของ FIBO และประชากรหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมไทย
“FIBO Presents 25 Years 1995 - 2020” งานสำคัญแห่งปีของวงการหุ่นยนต์ไทย ที่ไม่ใช่แค่เพียงการเดินทางของ FIBO แต่ยังเป็นการเดินทางของระบบอัตโนมัติและประชากรหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย
ในวาระครบรอบ 25 ปี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Institute of FIeld RoBOtics: FIBO) งาน "FIBO Presents 25 Years 1995 - 2020" จึงได้ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ 2563 โดย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา FIBO และผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ได้ เผยมุมมองสถานการณ์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย แนวโน้มในอนาคต 5 ปีข้างหน้า และภารกิจถัดไปของ FIBO
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Institute of FIeld RoBOtics: FIBO) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 พันธกิจหลักของ FIBO คือ การสร้างบัณฑิตชั้นนำที่มีความรู้ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตอบโจทย์ความต้องการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์, การพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้งานได้จริงเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ และการมุ่งสู่ความเป็นสากลโดยมีความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยกับสถาบันต่างประเทศ
“FIBO เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาแรงงานล้นตลาด ยังไม่เห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นในสิ่งที่ FIBO ทำ แต่ในปัจจุบันที่ประชากรวัยทำงานในประเทศไทยลดลงจากเมื่อก่อนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ท้ายสุด แรงงานเหล่านี้ก็ย่อมต้องกลับไปยังประเทศตัวเอง ในการผลิต จึงจำเป็นต้องมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย ซึ่งเราได้เรียนรู้ว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพได้หรือไม่ เมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะโตขึ้นเอง”
รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา แสดงความเห็นว่าเป็นความโชคดีของ FIBO ที่ไม่ต้องการพึ่งพางบประมาณจากรัฐ ตั้งใจทำงานให้อุตสาหกรรมเป็นหลัก ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เป็นเพราะ FIBO คาดการณ์ได้ล่วงหน้าแม่นยำถึง 25 ปีแต่อย่างใด
We never design problems, but problems design FIBO.
ด้วยการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด การสร้างต้นแบบตามโจทย์ที่อุตสาหกรรมตั้งให้ เมื่อพัฒนาต้นแบบสำเร็จแล้วก็ส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เราะได้สร้างต้นแบบสู่อุตสาหกรรมแล้วเป็นจำนวนกว่า 200 ต้นแบบ ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากในช่วงต้นที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยี การเข้าไปช่วยออกแบบและพัฒนา จนภาคอุตสาหกรรมเติบโต และสามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับสถาบันวิจัยในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งไม่มีธุรกิจใด หรือสถาบันใด ที่จะเริ่มได้ด้วยตนเองโดยขาดการร่วมมือกัน
Connecting the dots.
ด้วยการทำงานที่ประสานกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และวางข้อกำหนดสำคัญที่ทำให้ FIBO ได้พัฒนาตัวเองตลอด นั่นคือ การไม่รับแก้ปัญหาเดิมให้กับภาคอุตสาหกรรม และมุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติต้นแบบสำหรับการแก้ปัญหาใหม่ ๆ รวมถึงส่วนขยาย ทำให้ FIBO มีโครงการระยะยาวกับภาคอุตสาหกรรม และเป็นการคิดค้นพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่มาขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของ FIBO โดย รศ.ดร.ชิต กล่าวว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะ FIBO ไม่ตั้งโจทย์เอง แต่ไปเอาโจทย์จากอุตสาหกรรมแทน นำมาซึ่งแนวทางการเปิดห้องแลบต่าง ๆ และการทำงานของสถาบันในที่สุด ซึ่งในช่วงต้น การแก้ปัญหาของ FIBO เป็นลูกผสมของหุ่นยนต์กับระบบอัตโนมัติ เข้าไปถามปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมมี ไม่ใช่การนำโซลูชันที่มีไปเสนอขาย ซึ่ง รศ.ดร.ชิต ย้ำว่า “การเลือกเส้นทางที่ยากลำบาก จะทำให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากกว่าการทำงานโดยง่าย” ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้ในระหว่างทางเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ก็มักจะเกิดไอเดียต่าง ๆ ขึ้น และหลายครั้งก็เป็นไอเดียที่ดี ซึ่งถูกนำมาพัฒนาต่อ จนกลายเป็นอีกจุดถัดไป จึงอาจเรียกได้ว่า FIBO ในวันนี้มาจากการดำเนินงานด้วยความบังเอิญ
ระบบอัตโนมัติและประชากรหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมไทย
เมื่อครั้งเริ่มต้นสร้างคลัสเตอร์หุ่นยนต์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2558 ได้มีการสำรวจโรงงานจำนวน 513 โรงจากภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ พบว่า 85% ของโรงงานที่สำรวจ มีแนวโน้มล้มละลายใน 3 ปีหากไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต เนื่องจากต้นทุนที่ใช้ในการผลิตแพงกว่าราคาขายในตลาด จึงกลายเป็นเหตุผลหลักที่จำเป็นต้องผลักดันการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ทาง รศ.ดร.ชิต จึงได้เสนอแนวคิดการคืนภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งออกมาเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยคำนวนว่า รัฐต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 5 ปี จึงจะสามารถผลักดันได้สำเร็จ และในปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นเรื่องขอสนับสนุนการลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติรวมแล้วเป็นเงิน 1 แสนกว่าล้านบาท และอนุมัติแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้จะน้อยกว่าที่คำนวนไว้ แต่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เม็ดเงินที่ขอสนับสนุนคงไม่ต่างจากที่ตั้งเป้ามากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนแล้ว FIBO พบว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของ 10 หน่วยงานภายใต้ Center of Robotic Excellence (CoRE) ซึ่งมีสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นแกนกลาง โดย CoRE จะเป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาบุคลากรและยกระดับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA: Thai Automation and Robotics Association) เพื่อเพิ่มจำนวน System Integrator (SI) ซึ่งจะเป็น Local Content ผู้ให้บริการในการออกแบบและติดตั้งระบบให้เพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดย 2 ปีของการก่อตั้ง TARA ที่ได้ ดร. ประพิณ อภินรเศรษฐ์ มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน สมาคมสามารถดำเนินงานได้ดี และเพิ่มจำนวนสมาชิกจาก 30 บริษัท เป็น 130 - 140 บริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 200 บริษัทได้ในกลางปีนี้
ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งหุ่นยนต์เป็นไปตามเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์ทั่วโลกที่ทั้งสองอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิต นอกจากนี้ มองว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทย ก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน GDP ของประเทศมากกว่า 20% สูงกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีจำนวนหุ่นยนต์น้อย และอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับ SI ที่จะเข้าไปทำธุรกิจได้
“เราต้องคิดว่า จะกระตุ้น SME บริษัทคนไทย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารอย่างไรให้สนใจหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เช่น รัฐบาลอาจต้องช่วยเรื่องการกู้ยืมเพื่อการลงทุน เแทนการกระตุ้นผ่านมาตราการสนับสนุนการลงทุนที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลดีนักกับ SME เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีผลกำไรมากนัก จึงไม่ได้ประโยชน์จากการคืนภาษีนิติบุคคล”
เมื่อไทยยังมีหุ่นยนต์จำนวนน้อย ที่นี่จึงเป็น The Real Battlefield สำหรับธุรกิจหุ่นยนต์
รศ.ดร.ชิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีจำนวนน้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้ตลาดหุ่นยนต์ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก ธุรกิจด้านหุ่นยนต์จึงหันมาสนใจลงทุนในไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เพราะที่นี่คือ The Real Battlefield สำหรับธุรกิจหุ่นยนต์ มีทั้งนักลงทุนจากเกาหลีใต้ หลายบริษัทจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่ย้ายเข้ามาตั้งในประเทศไทย และผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ในจีน และญี่ปุ่น ก็ให้ความสนใจในไทยด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า การที่ไทยมีหุ่นยนต์น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมไทยเองก็ว่าได้
ภารกิจถัดไปของ FIBO
ที่ผ่านมา FIBO เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ และได้ส่งไม้ต่อให้ TARA รับช่วงแทน โดยจากนี้ไป FIBO จะมุ่งไปที่อุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น โดยเน้นการสร้างแพลตฟอร์มของคนไทยที่จะทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้้นในยุคอุตสาหกรรม 4.0 สามารถเชื่อมต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็น 5G, IoT, Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence), และ Smart Manufacturing ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเรื่องใหม่เหมือนเมื่อครั้ง 25 ปีก่อนที่ FIBO เริ่มทำงานด้านหุ่นยนต์