005-เวียดนาม-ไทย-นักลงทุน-ฐานการผลิต

“สุริยะ” เจอจุดอ่อนเวียดนาม นักลงทุนโอดกฎหมาย-สิทธิประโยชน์ไม่นิ่ง ค่าแรง+สวัสดิการเกือบเท่าไทย

อัปเดตล่าสุด 2 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,134 Reads   

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลัง เดินทางไปประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย.2562 และหารือกับคณะผู้บริหาร คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ภาคเอกชน สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในเวียดนาม ณ สถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศเวียดนาม ว่าที่ประชุมได้มีการรับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และมาตรการส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทย-เวียดนาม

เพื่อให้ได้รับรู้ว่านักลงทุนต้องการอะไร หรือได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้างในการเข้าไปลงทุนที่เวียดนาม เพื่อเป็นแนวทางให้ไทยนำไปกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการนักลงทุน โดยไทยจะให้มากกว่าแบบมาตรการต่อมาตรการ

ซึ่งจุดอ่อนของเวียดนาม คือ กฎหมายการลงทุนบางข้อเขียนไว้คลุมเครือ แม้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเวียดนามจะอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย แต่ยังมีค่าสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องนำมานับรวมเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ที่เมื่อเทียบแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ปี 2561 ไทยอยู่ที่ 6,630-8,605 บาท/เดือน เวียดนามอยู่ที่ 4,679-6,747 บาท/เดือน

และที่สำคัญสิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งเสริมการลงทุนนั้นมีโควต้าจำกัด เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในเวียดนาม กลับไม่ได้สิทธิประโยชน์จริง

แต่อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็ยังคงมีจุดแข็ง นั่นคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตประมาณ 6-7% มีทรัพยากรธรรมชาติยังสมบูรณ์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูก มีการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ต่างชาติมีสิทธิ์เช่าที่ดินฟรีหากลงทุนแล้วช่วยพัฒนาจังหวัดที่อยู่ไกล ๆ

และยังพบว่านักธุรกิจของเวียดนาม ที่มีเงินทุนสูงและศักยภาพพร้อมออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ซึ่งไทยจะใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนให้เข้ามายังธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

จากนี้จึงสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กลับไปสรุปสถานการณ์และผลการหารือครั้งนี้ทั้งหมด เพื่อเป็นแนวทางกำหนดแผนดึงดูดการลงทุนเข้าไทยก่อนนำเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอเป็นนโยบายต่อรัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้นายสุริยะ ยังได้เยี่ยมชม บริษัท ซีพี เวียดนาม (บริษัทแปรรูปอาหาร) ซึ่งได้พบว่าเอกชนไทยที่ลงทุนในเวียดนามนั้นได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างไรบ้าง อุปสรรค และการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งทางซีพีมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ทั้งธุรกิจเลี้ยงสัตว์บก หมู ไก่ ปลา กุ้ง ธุรกิจแปรรูปอหาร ธุรกิจภัตตาคาร และธุรกิจโรงอาหารสำหรับพนักงาน (Canteen) ที่เริ่มเข้าสู่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และด้วยซีพีมีนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในท้องถิ่น การตอบแทนสังคม (CSR) ทำให้ทางรัฐบาลเวียดนามให้การต้อนรับนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี