METI ผลักดัน “Connected Industries
Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ประเทศญี่ปุ่น เร่งผลักดันแนวคิด “Connected Industries (CI)” สนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กร กระตุ้นการเกิดของธุรกิจต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางในอนาคตของ CI เอาไว้ ดังต่อไปนี้
ปัจจุบัน แนวคิด CI มีสถานการณ์อย่างไร?
“ปัจจุบัน ธุรกิจหลายรายมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรม Machine Tools ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคกันอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งในบริษัทที่วางตัวเป็นคู่แข่งกันและกัน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การแบ่งปันข้อมูลการจัดวาง และสภาพการสึกหรอของท่อ ในธุรกิจปิโตรเคมี ข้อมูลการบริหารจัดการของวิศวกร และอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลเราได้ทำการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเช่นนี้มากถึง 25 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันข้อมูลจากสายการผลิตของธุรกิจรายใหญ่ เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
คิดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?
“ในอนาคต การแบ่งปันข้อมูลจะไม่จำกัดแต่ในวงผู้ผลิต แต่รวมถึงซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็ได้เสนอความต้องการแบ่งปันข้อมูลกับเรามาแล้ว และคาดว่าในอนาคต อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศจะเห็นความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรม ช่วยในการพัฒนา และแก้ปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ รวมถึงยกระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมเองอีกด้วย”
ในอุตสาหกรรมยานยนต์เอง ดูเหมือนว่าแนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) และ CI จะมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก และกำลังเป็นเทรนด์ในยุคนี้
“นั่นเป็นเพราะการจับมือเป็นพันธมิตรของค่ายรถ เช่นกรณีของ Renault–Nissan–Mitsubishi Alliance ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นเรื่องที่จำเป็น และปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ยานยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicle: HV) และยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicle: FCV) ล้วนแต่เป็นก้าวหนึ่งไปสู่แนวคิด CASE ทั้งสิ้น และแนวทางเหล่านี้เอง ที่จะช่วยให้สังคมสามารถเข้าสู่ยุคปลอดคาร์บอนได้เร็วขึ้นอีกก้าวหนึ่ง”
แล้วการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธุรกิจรายเก่า กับสตาร์ทอัพเป็นอย่างไร?
“รัฐบาลได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีแววจำนวน 92 ราย มาสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยการแมทชิ่งธุรกิจเหล่านี้กับธุรกิจรายใหญ่ในวงการ รวมถึงผลักดันการเปิดตัวในต่างประเทศอีกด้วย”
CI ในผู้ผลิตรายใหญ่
ปัจจุบัน ในหมู่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Fanuc, DMG Mori, Mitsubishi Electric, และอื่น ๆ เองก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ ได้ถูกใช้ในการพัฒนาแพล็ตฟอร์ม IoT ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้เครื่องจักรเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว