เร่งปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ปั้นแรงงานคุณภาพ รองรับผู้ประกอบการใน EEC

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ย. 2562
  • Share :
รองนายกฯสมคิด ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย ปฏิรูปหลักสูตรการเรียน การสอน พัฒนาแรงงาน รองรับผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เตรียมจับมือมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน จัดทำหลักสูตรการเรียนและการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมแก่ประชาชน พร้อมหนุนผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายฝึกอบรมบุคลากรด้าน Advance Technology หักค่าใช้จ่ายได้ 250% ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานและลดปัญหาจบแล้วไม่มีงานทำ  
 
 
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เนื่องจากกระแสโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การศึกษาจึงก้าวข้ามไปจากการเรียนในปัจจุบันอย่างมาก ทุกคนหาความรู้ได้จากโซเชียล หลายสาขาในต่างประเทศต้องการเน้นงานวิจัยและพัฒนามาใช้พัฒนาสินค้า และเริ่มมีสัดส่วนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในองค์กร หากไทยไม่ปรับตัว จะไม่มีนักลงทุนเข้ามาขยายการลงทุน อย่างเช่นจีน ได้ใช้เมืองเซินเจิ้นเป็นโมเดลพัฒนาแรงงานคุณภาพ เมื่อได้ผลดีจึงเตรียมขยายไปยังมณฑลต่าง ๆ ทั่วจีน เมืองไทยจึงต้องปรับตัวด้วยเช่นกันในการพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ไม่ต้องห่วงเรื่องปริญญาตรี โท เอก เหมือนที่ผ่านมา แต่เพื่อพัฒนาแรงงานให้ตรงกับองค์กรที่ต้องการ
 
 
ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การหารือร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งประเทศครั้งนี้ เพื่อร่วมกันปฏิรูป และพัฒนาหลักสูตรกับภาคเอกชน รองรับนโยบาย Thailand 4.0 เพราะจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ใช่แรงจูงใจด้านภาษีสำหรับส่งเสริมการลงทุน แต่กลับเป็นแรงงานคุณภาพที่ต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการของเอกชนในยุคดิจิทัล จึงต้องทบทวนระบบการเรียนการสอนกันใหม่ทั้งหมด ขณะที่ BOI พร้อมส่งเสริมมาตการแรงจูงใจด้านอื่นให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับสถาบันการศึกษามากขึ้น เพราะแรงงาน 38 ล้านคน ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวมารองรับให้ตรงจุด ทั้งภาคเอกชนและภาคบริการ สำหรับเขต EEC ต้องการแรงงาน 4-5 แสนคน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันยกระดับแรงงานไทย
 
โดย อว. มุ่งสร้างคนที่จบออกมาแล้วให้มีทักษะทางอาชีพเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
 
  1. กลุ่มบัณฑิต อายุตั้งแต่ 18-21 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามอัตราเด็กเกิดใหม่
  2. กลุ่มแรงงาน อายุ 26-60 ปี ราว 38 ล้านคน จะต้องพัฒนาทักษะอาชีพ
  3. กลุ่มก่อนสูงวัย อายุ 45 ปีขึ้นไป ต้องเตรียมพร้อมรองรับวัยเกษียณ เพื่อให้มีอาชีพรองรับหากกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง
 
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังจะร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดใหญ่ จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติมให้กับประชาชน ซึ่งในเบื้องต้น ผู้สนใจสามารถเข้าเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจะประกาศออกมา สอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advance Technology มาหักค่าใช้จ่ายได้ 250% ระหว่างปี 2562-2563         
 
และจะร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดงาน Thailand Job Fair เพื่อสร้างการรับรู้และการตื่นตัวแก่เยาวชนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ถึงทักษะและความต้องการของบริษัทเอกชนหรือตลาดแรงงาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ หรือทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา
 
ด้าน นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเตรียมจับมือร่วมกับสถาบันการศึกษา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร Non Degree โดยมุ่งเน้นความต้องการแรงงานจากภาคเอกชนเป็นหลัก แทนการสร้างค่านิยมวุฒิการศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ด้วยการส่งพนักงานในบริษัท หรือร่วมกับสถาบันการศึกษาคัดเลือกบุคคลเข้ามาร่วมการฝึกอบรม เนื่องจากเศรษฐกิจยุคใหม่ ภาคเอกชนต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนไปมาก จนต้องตั้งสถาบันฝึกอบรมขึ้นมาเอง เพื่อการันตีการมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยขณะน้ีได้เริ่มต้นในสาขาหุ่นยนต์, เทคโนยีอาหาร และสุขภาพ และเตรียมขยายไปยังสาขาอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ดิจิทัล, การบิน และอุตสาหกรรมแนวใหม่แห่งอนาคต
 
ขอบคุณภาพข่าวจาก https://www.facebook.com/opsMHSRI
 
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th