กสอ. สานพลัง SCB ปั้นสตาร์ทอัพไทยสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

อัปเดตล่าสุด 3 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 566 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สานพลังความร่วมมือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปักหมุดหมู่บ้าน CIV 121 กิจการ ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักสินค้าอัตลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมการใช้พื้นที่ร่วม Co-Working Space ที่ร้าน Too Fast To Sleep ศูนย์สร้างธุรกิจใหม่ใจกลางเมือง และมุ่งมั่นปั้นสตาร์ทอัพไทยขายสินค้าบนเว็บไซต์ amazon.com ตั้งเป้า 5-10 ราย หวังขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังผู้บริโภคสหรัฐและยุโรป

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธุรกิจสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา โดยได้มีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ท และวิสาหกิจชุมชน ให้มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสร้างโอกาสทางการตลาดและการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนการบูรณาการวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีไทย และ สตาร์ทรุ่นใหม่ ๆ ให้พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่า   เพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยขณะนี้ทาง กสอ. และ เอสซีบี ได้มีการบูรณาการความร่วมมือดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 

1. โครงการ Google My Business (GMB) เป็นบริการฟรีจาก Google ที่มุ่งเน้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้า ธุรกิจ สามารถเพิ่มข้อมูลลงในฐานข้อมูล Google และแสดงผลเมื่อมีการค้นหาบน Search หรือ Maps ทั้งแผนที่ ชื่อธุรกิจที่ได้มีการเพิ่มข้อมูลเข้าไป โดย กสอ. ได้ร่วมมือกับ เอสซีบีในการปักหมุดหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) มุ่งเน้นที่กลุ่มวิสาหกิจในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งทางเอสซีบีได้ลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของ กสอ. ในการให้ความรู้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนถึงความสำคัญของการปักหมุด รวมถึงบอกวิธีการและให้คำแนะนำการทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันมีการร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้าน CIV เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านการปักหมุด Google My Business แล้ว 9 ชุมชน จำนวน 121 ราย ประกอบด้วย ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 30 ราย ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 7 ราย ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 1 ราย ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี 15 ราย ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 8 ราย ชุมชนบ้านเก่าปากน้ำประแส จ.ระยอง 17 ราย ชุมชนบ้านต้นตาล จ.สระบุรี  13 ราย ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ 5 ราย และชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา 25 ราย ทั้งนี้ พบว่าการปักหมุด GMB หมู่บ้าน CIV ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและบริการของชุมชนนั้น ๆ และเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 

2. โครงการ Co-Working Space เป็นส่งเสริมการใช้พื้นที่ร่วมกันเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งเอสซีบี  ได้ให้การสนับสนุนสถานที่ Co-Working Space ย่านใจกลางเมืองที่ร้าน Too Fast To Sleep สาขาสยามสแควร์ ซอย 1 โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าไปใช้พื้นที่และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางธุรกิจ และประชุมงาน โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน นักศึกษาและผู้ประกอบการ Startup ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการ การจับคู่ธุรกิจ โดย กสอ. ให้การสนับสนุนวิทยากรเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการแสดงนวัตกรรม การให้บริการทางด้านการเงินของธนาคารฯ
 
นอกจากนี้ กสอ. และ เอสซีบี ยังได้มีการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงกับทางเว็บไซต์ amazon.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยเบื้องต้นได้จัดให้มีการอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อส่งเสริมผลักดัน ให้ใช้ตลาดออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของ amazon.com ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะมีการจัดงานสัมมนากลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ที่สนใจโอกาสการลงทุนในตลาดอเมริกาผ่าน Amazon Platform และโครงการ SMEs JumpStart เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 50 รายที่มีศักยภาพ เข้าอบรมเชิงลึกใน Amazon Platform และผลักดันให้เข้าสู่ Amazon Platform ต่อไป ซึ่งถือเป็นก้าวแรกความสำเร็จของการร่วมมือกันในการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยใช้ความรู้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการตลาดผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มและการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้อย่างคล่องตัว ทั้งนี้ โดย กสอ. ตั้งเป้านำผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยเชื่อมต่อธุรกิจเข้าไปอยู่บนการค้าออนไลน์ของ Amazon.com เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐและสหภาพยุโรป จำนวนไม่น้อยกว่า 5 - 10 ราย นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย                    

สำหรับเว็บไซต์ amazon.com ถือเป็นช่องทางขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการสู่ตลาดธุรกิจแบบขายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง (Business to Consumer: B2C) โดยมีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) กว่า 50% ของตลาดอีคอมเมิร์ซในอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีคลังสินค้าออนไลน์ 14 แห่ง จาก 14 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, แคนาดา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, อิตาลี, สเปน, เม็กซิโก, ออสเตรเลีย, ตุรกี, บราซิล และจีน อีกทั้งยังมีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้งานปัจจุบัน (active customer account) มากกว่า 330 ล้าน จากทุกประเทศทั่วโลก

ผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4583/4593 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th