004-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า-Honda-แบตเตอรี่

“ฮอนด้า” แก้เกมราคาจยย.อีวี โหมปลุกตลาดพัฒนาแบตเตอรี่พกพา

อัปเดตล่าสุด 5 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 584 Reads   

เอ.พี.ฮอนด้า เผยตลาดมอเตอร์ไซค์ไตรมาสแรกไร้ปัจจัยบวก คาดตลาดหดตัวทั้งปีขาย 1.7 ล้านคัน ส่วนฮอนด้าตั้งเป้าลดลงน้อยกว่าตลาด พร้อมประกาศนโยบายเดินหน้า พัฒนา รถมอเตอร์ไซค์ อีวี ต่อเนื่อง ชูราคาขายย่อมเยาให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย เปิดเผยถึงนโยบายของบริษัทว่า จะเร่งพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าชาวไทย แต่จะเน้นทำให้ราคาขายแบบย่อมเยา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องแล้วเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

จากก่อนหน้านี้บริษัทได้แนะนำรถจักรยานยนต์ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ อีวี ออกสู่ตลาดมาครบรอบ 1 ปีไปแล้วแต่มียอดขายน้อยมาก ซึ่งบริษัทถือว่าเป็นการแนะนำเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด

ทั้งนี้ เอ.พี.ฮอนด้า เชื่อว่าการที่จะทำให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและมีราคาขายที่ถูกลงนั้น ส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ

รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ให้มีระยะเวลาสั้น แต่สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่เพิ่มขึ้นมากกว่า และบริษัทมองว่า วิธีที่เหมาะสม คือ การถอดเพื่อเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่ ใช้งานหรือแบบพกพา เพื่อความสะดวกในการใช้งาน

“วันนี้ต้องยอมรับว่า รถฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ อีวี ของเรา ยังไม่สามารถทำตลาดเพื่อเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคอย่างแท้จริงได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาในเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง และความสะดวกในการใช้งานซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนตรงนี้น่าจะทำให้โอกาสของรถจักรยานต์อีวีเกิดได้เร็วขึ้น”

นายคิมูระยังกล่าวถึงแนวโน้มของตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้ว่า น่าจะมียอดขายอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านคัน ลดลง3% จากปีก่อนที่มียอดขายที่ 1.74 ล้านคัน

ขณะที่ เอ.พี.ฮอนด้า ตั้งเป้ามียอดจำหน่ายที่ 1.35 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 1.37 ล้านคัน ลดลง 2% จากตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินบนพื้นฐานของปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ระยะเวลาการเปลี่ยนรถจักรยานยนต์, สภาพเศรษฐกิจของไทย และราคาพืชผลทางการเกษตร

นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก ผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งหากเกิดผลกระทบระยะยาวอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ อัตราค่าเงินบาทแข็งค่า ที่อาจส่งผลให้อัตราการแข่งขันลำบาก แต่เนื่องจากไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกด้วย

โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณของปัจจัยบวก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริษัทจะเดินหน้าปรับปรุงการบริการ จัดทำโปรโมชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าซื้อง่ายขึ้น

ขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่จะอยู่ในภาวะทรงตัว ไม่เติบโตหรือเติบโตน้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมามียอดขายโดยรวมที่ 30,000 คัน และบริษัทจะมียอดขายที่ 12,000 คัน

นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแนวทางปรับตัวการทำธุรกิจเพื่อให้เข้ากับยุคของการเปลี่ยนแปลง หรือ age of disruption ซึ่งเทคโนโลยีและการบริการแบบ personalized ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก โดยทาง เอ.พี.ฮอนด้า ได้วางแนวทางที่สำคัญไว้ 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม

โดยแบ่งการพัฒนาสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รถจักรยานยนต์ที่ใช้สำหรับชีวิตประจำวัน เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว, รถจักรยานยนต์ที่พัฒนาเพื่อการใช้งานตามความสนใจส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ที่แสดงสถานะทางสังคม

2.การพัฒนาทัชพอยต์กับลูกค้าให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายจากสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นจนเกิดเป็นแบรนด์ลอยัลตี้ และ 3.การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจรถจักรยานยนต์ในด้านต่าง ๆ