การบินไทยลุยเต็มสูบ พัฒนา “MRO อู่ตะเภา” หนุนอุตสาหกรรมการบินเติบโต

อัปเดตล่าสุด 1 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 1,126 Reads   

การบินไทย ยืนยันเดินหน้าพัฒนาต่อ “ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา”  (MRO) แม้พันธมิตรหลักอย่าง “แอร์บัส” จะยังติดปัญหาด้านกฎหมายการร่วมทุนและกฎหมายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อหากดำเนินการได้สำเร็จจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดดันรายได้ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บริษัท แอร์บัส ซึ่งได้รับคัดเลือกให้มาร่วมทุนกับการบินไทย พัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ได้มาหารือและย้ำจุดยืนในการเดินหน้าลงทุน MRO ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดการร่วมทุน และฝ่ายเจรจาต้องทำงานคู่ขนานไปกับการร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยการเจรจาจนกว่าจะได้ข้อยุติที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนลงนามสัญญาร่วมกัน ระหว่างนี้กองทัพเรือ (ทร.) ซึ่งรับผิดชอบการลงทุนในส่วนของภาครัฐจะดำเนินการก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน และโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hangar)

ทั้งนี้ มีการรายงานว่าในการเจรจาระหว่างกัน พบว่าแอร์บัสยังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายการลงทุนหลายส่วน โดยเฉพาะกฎหมายการลงทุนในพื้นที่ EEC อาทิ การขอใช้พื้นที่สิทธิการเป็นเจ้าของ และความกังวลข้อผูกมัดต่าง ๆ ของกฎหมายการร่วมทุน รวมทั้งข้อเสนอของแอร์บัสที่ต้องการให้การบินไทยนำเครื่องบินเข้าซ่อมกับแอร์บัสเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายให้การเจรจาได้ข้อยุติโดยเร็ว และสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ตามกำหนด คาดว่าภายในเดือนกันยายน หรือปลายปี 2562 นี้ แอร์บัสจะยื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คู่ขนานกับการตั้งบริษัทร่วมลงทุน เพื่อลงนามสัญญาร่วมทุนพัฒนาโครงการต่อไป โดยการบินไทยเชื่อว่าการมี MRO จะช่วยสนับสนุนให้การบินไทยมีรายได้จากการซ่อมอากาศยานเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้จากการซ่อมอากาศยานประมาณ 1,200 ล้านบาท  


สำหรับโครงการ MRO นั้น นับเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในพื้นที่ EEC มีมูลค่าเงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท โดยกว่า 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของภาครัฐโดยกองทัพเรือ ส่วนอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบตามที่การบินไทยเสนอ ให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตามแผนพัฒนา EEC (2560-2564) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง MRO ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยในช่วงออกแบบ (ปลายปี 2561 – มิถุนายน 2562) จะต้องอาศัยเงื่อนไขทางเทคนิคในการออกแบบจากเอกชนผู้ร่วมทุน ซึ่งการไม่ใช้วิธีประมูลจะทำให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนสามารถช่วยให้ความเห็นและรับรองการออกแบบ เพื่อก่อสร้างได้ภายในเดือน มิถุนายน 2562 และก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายในปี 2564

สนับสนุนบทความโดย :  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)    www.eeco.or.th