กระทรวงแรงงาน เร่งปั้นนักศึกษาวิศวะ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์และ EEC
กระทรวงแรงงาน และสถาบัน AHRDA เดินหน้าพัฒนาทักษะนักศึกษาสาขาวิศวกรรรมยานยนต์ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หวังปฏิรูปกำลังแรงงานให้มีศักยภาพรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology) และแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
นาย ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดการฝึกทักษะฝีมือโครงการสหกิจศึกษา โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการฝึกอบรมให้แก่นักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าว จำนวน 28 คน ที่กำลังศึกษาสาขาวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แบ่งหัวข้อการฝึกอบรมเป็น 5 โมดุล ได้แก่
- พื้นฐานอุตสาหกรรม
- เทคโนโลยีการผลิตระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม
- การควบคุมลำดับขั้น
- การใช้เครื่อง CMM เพื่อการตรวจสอบชิ้นส่วนยานยนต์
- การปรับแต่งไฮดรอลิกและการบำรุงรักษาเครื่องจักร
เบื้องต้น ใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม 168 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 29 มกราคม 2563 โดยสถาบัน AHRDA จะมีบริการหอฟรีให้แก่นักศึกษาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย สะดวกในการเดินทาง และมีเวลาฝึกอบรมมากขึ้น นักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมจะเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นวิศวกรควบคุมงานได้ในอนาคต และโครงการนี้ยังมีส่วนสำคัญในการป้อนกำลังแรงงานสู่จังหวัดสมุทรปราการ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกด้วย
ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการในเครือข่ายของสมาคมฯ ได้แก่ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ชิบาตะ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท วาย เอส ภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด โดยจะคัดเลือกนักศึกษากลุ่มดังกล่าวที่กำลังจบการศึกษาแล้วเข้าทำงาน และเพื่อให้เยาวชนมีทักษะสูงขึ้น สามารถทำงานได้ตามความต้องการ ผลิตชิ้นส่วนได้มาตรฐาน
“สถาบัน AHRDA เป็นศูนย์ Training Excellent Center ของ กพร. เพื่อยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับสากล มุ่งเน้นพัฒนากำลังแรงงานในสายการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยการสร้างช่างเทคนิคและวิศวกรที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ สอดคล้องกับนโยบาย Workforce transformation ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” นายธวัชกล่าว
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th