สมอ.พลิกประวัติศาสตร์โชว์ผลงานปี 62 ทะลุเป้า เน้นเทคโนโลยีทุกกระบวนการทำงาน ยกระดับงานบริการตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ย. 2562
  • Share :

สมอ. พลิกประวัติศาสตร์การมาตรฐานไทย โชว์ผลงานปีนี้ทะลุเป้าเป็นประวัติการณ์ ปลื้มหนึ่งในภาครัฐยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีทุกกระบวนการทำงาน ยกระดับงานบริการผู้ประกอบการและประชาชนตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบปีงบประมาณ 2562 ว่า ปีนี้ สมอ. ได้พลิกประวัติศาสตร์การมาตรฐานของไทย โดยมีผลการดำเนินงานในรอบปีสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในด้านการกำหนดมาตรฐาน การออกใบอนุญาต และการตรวจติดตามเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนงานด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า และการได้มาซึ่งความสำเร็จในวันนี้ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของบุคลากรในองค์กร โดย สมอ. ได้ Transform องค์กรมุ่งสู่การเป็น สมอ. 4.0 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานในทุกภารกิจหลักของหน่วยงาน ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรอง รวมถึงการส่งเสริมมาตรฐาน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบ e-License มาใช้ในกระบวนการทำงานออกใบอนุญาต เพื่อความรวดเร็วในการบริการให้กับผู้ประกอบการ 

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการชำระค่าบริการและค่าธรรมเนียมงานบริการด้านอื่นๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยสามารถตรวจสอบหรือจัดพิมพ์ใบแจ้งหนี้สำหรับนำไปชำระเงินผ่านช่องทางการชำระเงินของธนาคารได้ สำหรับการตรวจติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาต สมอ. ใช้ระบบการตรวจติดตามผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ e-Surveillance เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ สมอ. ให้มากยิ่งขึ้น 

สำหรับผลการดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐาน ปีนี้ สมอ. กำหนดมาตรฐานทั้งหมด 244 เรื่อง ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมาตรฐานที่สำคัญๆ ได้แก่ มาตรฐานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ มาตรฐานผักผลไม้กระป๋อง มาตรฐานเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประกาศมาตรฐานบังคับอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ มาตรฐานภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน รถจักรยานยนต์ (EURO 4) ยางล้อรถยนต์ เหล็กเคลือบสังกะสี และเพาเวอร์แบงค์ เป็นต้น 

ด้านการออกใบอนุญาต ปีนี้ สมอ. ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งสิ้น 10,180 ฉบับ  ซึ่งเป็นผลงานการออกใบอนุญาตที่มากสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมาตรฐานที่สำคัญๆ คือ มอก. 2721-2560 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อสูบลม : ข้อกำหนดด้านเสียงจากยางล้อ ที่สัมผัสผิวถนนการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุน โดยมาตรฐานนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมรรถนะของยางล้อ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าว สมอ. ได้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด 1,356 ฉบับ ภายใน 1 วัน

ด้านการตรวจติดตาม ปีนี้ สมอ. ได้มีการตรวจติดตามผู้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต และสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์จำนวน 3,566 ฉบับ เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2562 เนื่องจากไม่แจ้งข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่  31 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องแจ้งปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาตทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศ และทำให้การตรวจสอบควบคุมสินค้า
ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ในปีนี้มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 9,944 ราย ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งหมดที่ได้รับการรับรองให้แสดงเครื่องหมาย มผช. แล้ว จำนวน 92,617 ราย นอกจากนี้ สมอ. ยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ผลิตสินค้าชุมชนในหมู่บ้านซีไอวี หรือหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) โดยต่อยอดพัฒนาสินค้าที่ผลิตในชุมชนให้ได้รับการรับรอง มผช. เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในชุมชน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ. ยังบูรณาการร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน ต่อยอดโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP หรือนวัตวิถี เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีศักยภาพเข้มแข็ง 

และอีกหนึ่งผลงานที่ทำให้การดำเนินงานของ สมอ. มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นคือ การแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๑๑ เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายรัฐบาล ที่จะลดขั้นตอนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล ทำให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. รวดเร็วทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการกำกับดูแลการทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถควบคุมและป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ท้องตลาดได้อย่างทันท่วงที เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม  นอกจากนี้ ได้แก้ไขบทลงโทษให้สูงขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินคดี โดยกำหนดให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดภาระคดีที่ศาล โดย พ.ร.บ.มาตรฐานฯ ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 8 ที่ได้มีการแก้ไข และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา
 
สำหรับการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบฯ แห่งแรกในอาเซียน ปัจจุบันได้สร้างสนามทดสอบยางล้อแล้วเสร็จ และได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการมีสนามและเครื่องมือเพื่อรองรับการทดสอบ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยางล้อ ยางพาราแปรรูป และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมทั้งระบบของประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่งเสริมการส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ 
 

วันนี้นอกจาก สมอ. จะจัดให้มีการแถลงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2562 แล้ว ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สมอ. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น เป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สมอ. ดำเนินงานตามแนวนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพ และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”