ภาคเอกชน ญี่ปุ่น-จีน ร่วมจัดสัมมนาใหญ่ในกรุงเทพฯ มั่นใจเชื่อมผู้ประกอบการ ดึงเม็ดเงินลงทุนใน EEC

อัปเดตล่าสุด 3 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 581 Reads   

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี  องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade : CCPIT) จัดสัมมนา Japan – China Workshop on Business Cooperation in Thailand ที่โรงแรม ดิ แอทธีนี กรุงเทพฯ โดยมีนักธุรกิจญี่ปุ่น – จีน กว่า 260 บริษัท รวมทั้งนักธุรกิจไทยจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อจัดสัมมนาให้ข้อมูล และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Networking) ระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น-จีน ในการร่วมลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ให้เกิดขึ้นจริง โดยมีสาขาธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูง 3 สาขา ได้แก่ สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ สาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสาขาเมืองอัจฉริยะ อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

การจัดสัมมนา ฯ ครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นเวทีต่อยอดให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีน ที่ได้แสดงความสนใจลงทุนในพื้นที่ อีอีซี อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ จากการจัดเวทีพบปะกันระหว่าง อีอีซี ร่วมกับจีนและญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน – ญี่ปุ่น ในประเทศที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ทั้ง 2 ประเทศ ได้จัดสัมมนาเรื่องบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ในประเทศไทย

ต่อมา ในการจัดสัมมนาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่ตึกรัฐสภาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งมีผู้นำจากทั้ง 2 ประเทศ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญีปุ่น และนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน โดยเชิญประเทศที่ 3 มีเพียงประเทศเดียวคือไทยเข้าร่วม และได้มีการกล่าวถึง พื้นที่ อีอีซี ว่าจะเป็นจุดหมายสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาทิเช่น การลงนามระหว่างธนาคาร ICBC ของจีน  และธนาคาร Mizuho ของญี่ปุ่น เรื่องความร่วมมือทางการเงินในการสนับสนุนนักลงทุนจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่สาม ซึ่งได้ระบุอย่างชัดเจนว่า อีอีซี จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารทั้ง 2 แห่งจะร่วมมือกันลงทุนในประเทศที่สาม และจะเชื่อมต่อไปสู่การพัฒนาระดับภูมิภาค 

นอกจากนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นและจีน  ยังสนใจการลงทุนในสาขาการบินและโลจิสติกส์ (Logistics) สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Smart automation) และสาขาการแพทย์สมัยใหม่ (New Regenerative medicine) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงการเหล่านี้จะเข้าข่ายการร่วมมือลงทุนของ 3 ประเทศในอนาคต