ถอดบทเรียน “จีอี” ลดคน 1 ใน 3 ปรับพอร์ตธุรกิจ-ตัดขายกิจการ
การกระจายความเสี่ยงแม้ว่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนและทำธุรกิจ แต่การกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจที่หลากหลายส่งผลให้การบริหารจัดการมีความซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ หากอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงยังอาจส่งผลต่อการดำเนินงานในภาพรวมอีกด้วย
เจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กำลังเผชิญปัญหาจากความหลากหลายของธุรกิจ โดย “แจ๊ค เดอ แกน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนของ “ฮาเบอร์ อินเวสต์เมนท์ แอ๊ดไวซอรี่” ซึ่งลงทุนในบริษัทจีอีเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ก่อนที่จะขายหุ้นทั้งหมดออกไปเมื่อปี 2017 ระบุว่า “จีอีมีขนาดที่ใหญ่และธุรกิจที่หลากหลายเกินไป ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ”
“สก๊อต เดวิส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “มีเรียส รีเสิร์ช” วิเคราะห์ว่า จีอีเป็นบริษัทที่มีความซับซ้อนที่สุดในตลาดหลักทรัพย์เอสแอนด์พี 500 ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารงาน นอกจากนี้ จีอีภายใต้การบริหารงานของ “เจฟฟ์ อิมเมลล์” ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอช่วงปี 2001-2017 ได้ทำการขยายธุรกิจด้วยการซื้อบริษัทต่าง ๆ อย่างไม่ระมัดระวังในราคาที่สูง จนกระทบต่อสถานะการเงินบริษัท
ทั้งนี้ ธุรกิจที่หลากหลายซึ่งสร้างความซับซ้อนในการบริหาร รวมถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำไรของจีอีในภาพรวมลดลง ขณะที่หนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ภาระดังกล่าวผลักดันให้บริษัทภายใต้การบริหารงานของจอห์น เฟลเนริง นั่งซีอีโอช่วงปี 2017-2018 จำเป็นต้องลดขนาดบริษัทลง ด้วยการตัดขายธุรกิจที่เป็นภาระออกไป
อย่างไรก็ตาม การปรับลดขนาดองค์กรเริ่มเห็นชัดขึ้นตั้งแต่ “เอช. ลอว์เรนซ์ คัลป์ จูเนียร์” เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เช่น การตัดขายกิจการ “เบเกอร์ ฮิวจ์” ซึ่งประกอบธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, การขายแผนกธุรกิจรถไฟที่มีอายุนับร้อยปีออกไป
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ เมื่อ
24 ก.พ. 2020 พบว่า เมื่อปลายปี 2017 จีอีมีพนักงานทั่วโลกจำนวน 313,000 คน ขณะที่ปลายปี 2019 จีอีมีพนักงานเหลือเพียง 205,000 คนเท่านั้น
สำหรับธุรกิจปัจจุบันของจีอีนั้นพบว่า บริษัทมีรายได้หลักมาจากธุรกิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า, เครื่องยนต์ไอพ่น, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบิน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น
ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่รายได้หลักมาจากภาคการเงิน, พลังงานฟอสซิล และโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ “เอช. ลอว์เรนซ์คัลป์ จูเนียร์” ซึ่งมองว่า จีอีควรโฟกัสกับสิ่งที่บริษัทเชี่ยวชาญ อย่างการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในอุตสาหกรรมอย่างธุรกิจผลิตไฟฟ้า, การบิน, บริการด้านสุขภาพและพลังงานทดแทน
อ่านต่อข่าว:
General Electric สาธิต เครื่องยนต์อากาศยานจาก Metal 3D Printer