แซงก์ชันครั้งที่ 4 กระทบแน่หลายอุตฯ จับตามองใครรอด ใครร่วง !
สงครามการค้ายังไม่มีแววสิ้นสุด การแซงก์ชันครั้งที่ 4 ของสหรัฐอเมริกาต่อจีน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตแสดงความเห็นว่าผู้บริโภคเริ่มได้รับผลกระทบในแง่ลบมากขึ้น ความต้องการลงทุนลดลง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงในตลาดโดยรวม นำมาซึ่งการพิจารณาปรับผังซัพพลายเชน และเน้นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมยานยนต์
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลกระทบโดยหลักคือค่ายรถที่มีการส่งออกไปยังจีน และสหรัฐ ส่วนในรายที่ไม่ได้ส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้มากนักก็ยังได้รับอิทธิพลจากการขึ้นภาษี โดย Mr. Seiji Kuraishi รองประธานบริษัท Honda แสดงความเห็นว่า “ผู้ถือหุ้นกังวลต่อสงครามการค้ามากขึ้น” และคาดการณ์ว่า หากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศดำเนินต่อไปแล้ว ตลาดรถยนต์มือ 1 จะเกิดการชะลอตัวอย่างแน่นอน
นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์รายหนึ่ง รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ยอดขายรถมือ 1 ในจีนอยู่ที่ 180,000 คัน ลดลงจากปีก่อน 4.3% และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนยอดขายรวมตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนกรกฎาคม 2019 อยู่ที่ 1,413,000 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 11.4% และเป็นไปได้ว่าปีนี้จะมียอดรวมที่สิ้นปีต่ำกว่าปีที่แล้ว รวมถึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่จะแย่ลงอีกในปีถัดไป
อุตสาหกรรม Machine Tools
สงครามการค้า ส่งผลให้ยอดออเดอร์ Machine Tools ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นใจในการลงทุนลดลง หรือถูกชะลอออกไป โดย Japan Machine Tool Builders' Association (JMTBA) คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2019 หลายบริษัทจะทำยอดได้ต่ำกว่าเป้า
นอกจากนี้ การแซงก์ชันครั้งที่ 4 จะส่งผลให้การลงทุนลดลงไปอีก เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง จะทำให้ความต้องการ Machine Tools สำหรับผลิตสินค้านั้น ๆ น้อยลงตามไปด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง JMBTA คาดการณ์ว่า ยอด Machine Tools สำหรับผลิตสมาร์ทโฟนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากอุปสงค์นตลาดยังคงสูง แม้จะมีการเปลี่ยนฐานการผลิตก็ตาม
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
Mr. Katsuaki Nomura รองประธานบริษัท Sharp แสดงความเห็นว่า “สงครามการค้าทำให้เราต้องการกระจายความเสี่ยงออกไป” และตอกย้ำความสำคัญของซัพพลายเชนในสถานการณ์นี้ ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ Sharp ซึ่งย้านฐานการผลิตจอ LCD ไปยังเวียดนาม และคาดการณ์ว่าในอนาคต เวียดนามจะกลายเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ที่สำคัญขึ้นมาตามจีน
ส่วนทางด้าน Casio เป็นอีกรายที่เร่งย้ายฐานการผลิต โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการย้ายกระบวนการผลิตไปยังญี่ปุ่น และไทยตามลำดับ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Kyocera ซึ่งเลือกย้ายมายังเวียดนามเช่นเดียวกัน
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
อุตสาหกรรมเคมี และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีการนำไปใช้ในหลายภาคเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นภาษีวัสดุสำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ความต้องการสินค้าลดลงได้
Mitsubishi Chemical รายงานว่า ความต้องการวัสดุเรซิ่นใส และปิโตรเคมีลดลงทั้งตลาด และแสดงความเห็นว่า ต่อให้เป็นวัสดุที่ผลิตจากนอกประเทศจีน แต่ด้วยความที่จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ จึงทำให้ความต้องการลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารธุรกิจเคมีรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่ผลิตตามสเปคลูกค้าโดยตรง จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอดได้ในสถานการณ์ตลาดเช่นนี้ ดังนั้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ขายดีมากขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นกว่าเดิม