Honda จับมือ Toyota มุ่งหน้ายกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่าน MaaS และ CASE

อัปเดตล่าสุด 8 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 1,021 Reads   

นับเป็นอีกก้าวใหญ่ของ Monet Technologies บริษัทร่วมทุนระหว่าง Toyota และ SoftBank เมื่อ Honda ประกาศเข้าร่วมลงทุนในการก่อตั้ง “Monet Consortium” ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการละทิ้งความเป็นคู่แข่ง และมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการคมนาคมพื้นฐานตามแนวคิด MaaS (Mobility as a Service) พร้อมตั้งเป้าให้แพลตฟอร์มนี้กลายเป็นมาตรฐานสากลของ MaaS ในอนาคต


Mr. Junichi Miyakawa และ Mr. Akio Toyoda(ขวา)

Mr. Akio Toyoda กล่าวภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ซึ่งจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า “การร่วมมือครั้งนี้คือก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม”

ภายในงานวันเดียวกัน Monet ได้เปิดเผยถึงการเข้าร่วมลงทุนของ Honda และ Hino บริษัทละ 24,995,000 ล้านเยน และถือหุ้นไว้เท่ากันที่บริษัทละ 9.998% เพื่อขยายไลน์อัพของ MaaS ให้มีความหลายหลายมากยิ่งขึ้น

ความร่วมมือนี้ยังเป็นก้าวสำคัญที่ Honda และ Toyota ได้ประสานความร่วมมือกันเป็นครั้งแรก เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญตามแนวคิด MaaS ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ซึ่ง Mr. Junichi Miyakawa ประธานบริษัท Monet ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นั้น ยิ่งร่วมมือกับค่ายรถหลายค่าย ก็ยิ่งได้ข้อมูลมาก และสามารถพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้น และหลังจากนี้ เราก็จะมุ่งหาพาร์ทเนอร์เพิ่มต่อไป”

ภายในงาน Monet ได้เผยถึงการก่อตั้ง Monet Consortium ว่าเป็นโครงการซึ่งรวมไว้ด้วยบริษัทจำนวนมากจากหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น  COCA-COLA BOTTLERS JAPAN, Yahoo, East Japan Railway Company, Mitsubishi Estate, และอื่น ๆ ทั้งหมด 88 บริษัท ส่งผลให้ปัจจุบัน Monet มีชุดข้อมูลในมือกว่า 170 ประเภท เพื่อใช้ในการพัฒนาบริการด้านต่าง ๆ ตามแนวคิด MaaS ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ทางบริษัท ยังได้รับความร่วมมือจากเทศบาลส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง ในการรวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย


 Monet Consortium (Photo: Monet)

ปัจจุบัน ทางบริษัทอยู่ระหว่างการทดลองบริการ “On Demand Bus” และคาดว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถยนต์นั่งได้ในปีงบประมาณ 2019 นี้ รวมถึง “e-Palette” รถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota ซึ่ง Mr. Kenji Yamamoto เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Monet และพนักงานบริษัท Toyota ได้กล่าวภายในงานว่า “เราจะตั้งเป้าพัฒนาการให้บริการที่รวดเร็ว และฉับไว ด้วย e-Palette”

Toyota คาดหวังว่า Monet จะกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับแนวคิด MaaS และอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต และจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานในแนวคิดนี้ จึงเป็นอีกเหตุผลให้ทางบริษัทตัดสินใจเดินหน้าประสานความร่วมมือกับค่ายรถและบริษัทอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ และสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถใช้เป็นมาตรฐานสากลได้จริง 

ในขณะเดียวกัน Mr. Yamamoto ได้กล่าวเสริมถึงกรณีการร่วมมือกับ Honda ว่า “เป็นการร่วมมือที่จะให้เห็นภาพว่า ในอนาคต การคมนาคม บริการ และเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแต่อย่างใด”

Mr. Miyakawa กล่าวว่า “Monet จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มให้มากที่สุด” พร้อมเร่งเดินหน้าประสานความร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป

ทิ้งภาพลักษณ์ เพื่อการปฏิวัติวงการยานยนต์

ปัจจุบัน Honda ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และบริการภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) เป็นหลัก และอยู่ระหว่างการร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติหลายรายเพื่อมุงพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นสากล โดยร่วมมือกับ Hitachi ในการผลิตและพัฒนามอเตอร์, ร่วมมือกับ Reachstar บริษัทในเครือ Neusoft ในด้าน Ride Sharing, และอื่น ๆ ซึ่งในหมู่บริษัทที่ร่วมมือด้วยนั้น Honda มีความสัมพันธ์กับ SoftBank ดีที่สุด

ทั้ง 2 บริษัท ได้จับมือพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 ตามด้วยเทคโนโลยี Connected Car ซึ่งใช้ 5G ในเดือนพฤศจิกายน 2017 โดยมีจุดยืนในการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในทางอ้อมอีกด้วย เช่น ในเดือนตุลาคม 2018 Honda ร่วมกับ General Motors ในด้าน Ride Sharing และเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักของ GM Cruise Holdings ซึ่งมี SoftBank ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

Mr. Takahiro Hachigo CEO บริษัท Honda กล่าวถึงการร่วมลงทุนให้กับ Monet ซึ่งมีคู่แข่งอย่าง Toyota เป็นผู้ถือหุ้นว่า “เป็นการร่วมมือ เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมเป็นหลัก”

ผู้เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า การประสานความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยลบล้างภาพลักษณ์เดิม ๆ ของ Honda ที่ไม่นิยมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นลงได้ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการเดินหน้าพัฒนายานยนต์ตามแนวคิด CASE เป็นอย่างยิ่ง

CASE คลื่นลูกใหม่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์


Toyota “e-Palette” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้จริงได้หลังปี 2023 

ปัจจุบัน แนวคิด CASE เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในหมู่ผู้พัฒนายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่ผู้พัฒนามากมาย รวมไปถึงผู้พัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ คาดการณ์ว่าเมื่อยุคของ CASE มาถึงแล้วจริง เทคโนโลยีที่จะมีความต้องการสูงสุดก็คือห้องโดยสาร

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง คือ การเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมลงทุนของผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งในค่ายตะวันออก และตะวันตก เพื่อครอบครองเทคโนโลยีที่จำเป็นให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี และบริการในอนาคต ผู้เกี่ยวข้องในวงการชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “เป็นยุคที่หากไม่ร่วมมือกับธุรกิจอื่นแล้ว จะไม่สามารถตามคลื่นลูกนี้ได้ทัน” 

และดูเหมือนว่า คลื่นลูกนี้จะใหญ่มากเสียจนธุรกิจ IT อย่าง Google ก็ต้องเกาะไปด้วยเช่นเดียวกัน