ญี่ปุ่นหนุน ผลักดันการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และ SIer อย่างต่อเนื่อง

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2561
  • Share :

ความเคลื่อนไหวในการผลักดันการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมญี่ปุ่นยังคงหนักแน่นมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นโชว์รูมหุ่นยนต์ การลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนา และการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือด้าน System Integrator (SI) เพื่อตอบรับความต้องการระบบอัตโนมัติที่พุ่งทะยานจากความต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงประสานความร่วมมือกับ SMEs เพื่อสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์อย่างทั่วถึง อีกทั้งการพัฒนา AI ที่สามารถทำงานได้ในหลายหน้าที่มากยิ่งขึ้นนี้เอง ที่ยิ่งทำให้มีจำนวนผู้ให้ความสนใจในการจัดหาหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ใช้งานง่ายเป็นสำคัญ


 

เครื่องจักรที่เข้าถึงง่าย

Mr. Hirokazu Sanjo หัวหน้าแผนกอุปกรณ์ของ Mitsubishi Electric Factory Automation กล่าวว่า เป้าหมายของ “East Japan FA Solution Center” โชว์รูม Factory Automation ซึ่งเปิดตัวที่ย่านอากิฮาบาระเมื่อเดือนกรกฎาคม คือ “เมื่อมองความคืบหน้าในอุตสาหกรรมการผลิต เราแค่เปลี่ยนวิธีเดินไปสู่เป้าหมายให้เป็นสนามทดลองก็พอแล้ว”

โดยในโชว์รูมแห่งนี้เอง Mitsubishi Electric ได้จัดพื้นที่ไว้ใช้สำหรับสาธิตการทำงาน, ทดลองใช้, และวิจัยหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์เรียงข้าวกล่อง และหุ่นยนต์ที่ใช้ AI ในการเลือกหยิบชิ้นส่วนที่วางปนกันไว้ออกมาจากกล่อง

อีกรายที่เปิดโชว์รูมในญี่ปุ่นคือ ABB ซึ่งได้เปิดตัว “Robotics Application Center” ที่เมืองโตโยตะ จังหวัดไอจิ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเสนอและสนับสนุนระบบหุ่นยนต์ที่ใช้งานง่ายให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหรกรรมแปรรูปโลหะ ที่ต้องการลดเวลาการทำงานของตน

นอกจากนี้ ยังมี Fanuc ซึ่งได้ยกระดับศูนย์อบรม “FANUC Academy” ที่จังหวัดยามานาชิใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี ขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 2 เท่า และก่อสร้างส่วนที่พักใหม่ ซึ่งในศูนย์ประกอบด้วยหุ่นยนต์กว่า 50 เครื่อง, เครื่อง CNC 45 เครื่อง, Cutting Machine ขนาดเล็ก 12 เครื่อง, และอื่น ๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะสามารถเลือกใช้เครื่องได้โดยอิสระ 1 เครื่อง ซึ่ง Mr. Takayuki Taira ผู้อำนวยการ Fanuc Academy ได้ชี้แจงว่า   “หากมีเครื่องจักรอยู่ใกล้ตัว เมื่อเข้าใจทฤษฎีแล้วก็จะสามารถทดลองทำงานได้ทันที”

ผู้เข้าชมจากทั่วประเทศ

ในช่วงที่ความสนใจในหุ่นยนต์พุ่งสูงขึ้นเช่นนี้เอง ที่โชว์รูม “Kawasaki Robostage” ที่โตเกียว ของบริษัท Kawasaki Heavy Industries ได้มียอดผู้เข้าชมแตะ 5 หมื่นคน หลังจากที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ซึ่งโชว์รูมแห่งนี้ มีจุดเด่นที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาทดลองใช้หุ่นยนต์ได้โดยง่าย รวมถึงนักเรียน และผู้มีความสนใจทั่วไป โดยในโชว์รูมได้มีการจัดสาธิตใช้ “duAro” Cooperating Robot แบบ 2 แขนในการวาดภาพเหมือนของผู้เข้าชม เพื่อกระตุ้นความสนในใจเทคโนโลยีด้านนี้ให้มากขึ้น

และในช่วงเดียวกันนี้ ยังมีโชว์รูมของ Yaskawa Electric ใน 3 จังหวัด และโชว์รูมของ Nachi-Fujikoshi ที่จังหวัดโทยามะเอง ก็ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศเช่นกัน

สมาคม SI เริ่มงานในเดือนกรกฎาคม

SI ความสำคัญที่ไม่อาจขาดได้

การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการวางระบบในสถานที่ทำงาน และจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะสามารถทำงานได้ ซึ่ง SI นี้เอง ที่มีบทบาทในจุดนี้ ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากผู้ผลิตที่ไม่เคยมีประสบการณ์ใช้หุ่นยนต์ในโรงงานของตนมาก่อน

ด้วยเหตุนี้เอง ธุรกิจด้าน SI และด้านที่เกี่ยวข้อง รวมแล้ว 144 ราย จึงได้ก่อตั้ง “FA Robot System Integrator Association” องค์กรความร่วมมือด้าน SI ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี Mr. Kazuo Kubota ประธานบริษัท Sanmei Mechanical ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมคนแรก ซึ่ง Mr. Kubota ได้ชี้แจงว่า “ปัจจุบัน ความต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใน SMEs มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมบริการ” และกล่าวเพิ่มเติมว่า SI จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้

ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ถูกใช้เป็นหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลให้ผู้ใช้ส่วนมากเป็นธุรกิจรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงานมีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ด้วยจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้หุ่นยนต์ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่ง Mr. Yasuhiko Hashimoto ประธาน Japan Robot Association (JARA) กล่าวแสดงความเห็นว่า “ผู้ผลิตหุ่นยนต์และ SI เปรียบได้ดั่งล้อรถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้” และแสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับโครงสร้างธุรกิจ SI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
ความร่วมมือจากเทศบาลท้องถิ่น

ธุรกิจ SI ต่างเร่งสร้างศูนย์อำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการจัดหาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง เช่น Haga ซึ่งก่อสร้างโชว์รูมสำหรับทดสอบใช้เครื่องไว้ข้างสำนักงานใหญ่เมื่อเดือนกรกฏาคม DAIDO ซึ่งเปิด  “พิพิธภัณฑ์หุ่นยนต์ DAIDO Tokyo” เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งรวมรวมหุ่นยนต์กว่า 40 แบรนด์เอาไว้ สำหรับใช้ในการสนับสนุนการวิจัยและการจัดหาหุ่นยนต์ BYNAS ซึ่งก่อตั้งศูนย์อบรม SI ในเดือนเมษายนไว้ข้างสำนักงานตน และอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากเทศบาลท้องถิ่น เช่น จังหวัดยามางาตะ ซึ่งก่อตั้งศูนย์อบรบ SI จังหวัดอิบารากิซึ่งปรับปรุงศูนย์ทดลองใช้หุ่นยนต์ใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือความแพร่หลายในการใช้หุ่นยนต์นั่นเอง