ทำไม Panasonic ถึงมุ่งจับมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจอื่นแม้มีความเสี่ยง?

อัปเดตล่าสุด 3 เม.ย. 2562
  • Share :

Panasonic ประกาศ มุ่งประสานความร่วมมือกับบริษัทอื่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยตนเองในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงสูง ซึ่งทาง Panasonic ยอมรับว่า การร่วมมือกับบริษัทอื่นเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่นั้น แม้มีความเสี่ยงในการซ้อนทับของชนิดผลิตภัณฑ์ และอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทตนขายได้ยากขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัท เนื่องจาก Panasonic เป็นบริษัทที่มีความหลากหลายของสินค้ามาก จนไม่อาจลงทุนพัฒนาสินค้าเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง

ความร่วมมือขั้นต้น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม Panasonic ได้ประกาศร่วมมือกับ Nitto Kogyo Corporation ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แผงสวิตช์สำหรับอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะเป็นคู่แข่งกัน แต่ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ต่างกันไป ทำให้บริษัทเล็งเห็นว่าการร่วมมือครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์มากกว่า โดย Mr. Mitsuru Shirasawa หัวหน้าแผนกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท Panasonic กล่าวแสดงความเห็นว่า “ทุกบริษัทมีเรื่องที่ไม่เชี่ยวชาญ ความร่วมมือในครั้งนี้ ก็จะมาช่วยแก้ไขในจุดนี้ และทำให้เราสามารถทุ่มเทกับผลิตภัณฑ์อื่นที่เรามีความเชี่ยวชาญได้มากขึ้น”

อีกกรณีหนึ่ง คือ Toyota ซึ่ง Panasonic ได้ร่วมลงทุนก่อตั้งธุรกิจด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ซึ่งมีกำหนดก่อตั้งภายในปี 2020 และจะใช้โรงงานเดิมของ Panasonic เป็นฐานการผลิต โดย Panasonic ยอมรับว่า แม้ว่าบริษัทตนจะมีส่วนแบ่งในตลาดแบตเตอรี่สูง แต่ด้านคุณภาพยังเป็นรอง Toyota อยู่จริง

นอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย เช่น Welding Machine ซึ่งทางบริษัทได้ตัดสินใจพัฒนาให้สามารถใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของผู้ผลิตรายอื่นได้ โดยจะเริ่มการพัฒนาในปี 2019 นี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดซึ่งมีการแข่งขันอย่างรุนแรงเอาไว้ พร้อมเปลี่ยนแนวทางเป็นการขายในฐานะส่วนหนึ่งของสายการผลิต แทนที่จะขายเพียงแค่ตัวเครื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

อีกตัวอย่างหนึ่งคือตู้แช่เย็น โดยเฉพาะตู้แช่แบบกระจกใสสำหรับร้านค้า ที่ทางบริษัทตัดสินใจนำชิ้นส่วนจากบริษัทอื่นมาใช้ในสินค้าของบริษัทตน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ซึ่งแนวทางทั้งหมดเหล่านี้ เป็นผลมาจากแนวโน้มการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งคุณภาพของสินค้าหลายบริษัทมีความใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ผู้ผลิตมุ่งแข่งขันด้านราคา ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน แม้กระทั่งแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ทางบริษัทซัพพลายให้ Tesla ก็จำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อให้ผลกำไรดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ และคุณภาพก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การลดต้นทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญรองลงมา เพื่อให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์หลักได้มากขึ้น จึงกลายเป็นแนวทางของ Panasonic นั่นเอง