เพราะอะไร Suzuki จึงร่วมลงทุนกับ Toyota?

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,347 Reads   

Toyota จับมือ Suzuki กระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัท ลงทุนขยายความร่วมมือในทุกมิติ รุกตลาดยานยนต์ขนาดเล็ก และตลาดอินเดีย โดยอาศัยเทคโนโลยี และฐานลูกค้าของ Toyota ร่วมกับระบบขับขี่อัตโนมัติ เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles: HV) Suzuki เผย สาเหตุที่ตัดสินใจร่วมมือคือ การแข่งขันในตลาดยานยนต์ที่รุนแรงยิ่งขึ้น

2 บริษัทร่วมรุก ตลาดอินเดีย และแอฟริกา

นับตั้งแต่การประกาศความร่วมมือในปี 2016 Toyota และ Suzuki ต่างมีการกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง โดย Toyota ได้ประกาศให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) แก่รถยนต์ของ Suzuki ที่จะเข้าสู่ตลาดอินเดียในปี 2020 ให้ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องยนต์ และระบบไฮบริดขนาดเล็ก และใช้โรงงานของ Toyota เป็นฐานการผลิตยานยนต์แบรนด์ Suzuki เพื่อป้อนตลาดอินเดีย และแอฟริกา ซึ่งในเดือนมีนาคม 2019 ทางบริษัท ได้ประกาศซัพพลายระบบไฮบริด, และเพิ่มจำนวนโมเดลรถที่ให้การสนับสนุนเพิ่มเติม

ส่วนในด้านการร่วมลงทุนในครั้งนี้ ได้มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานทั้ง 2 บริษัท ให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นประเด็นที่พิจารณาไว้แล้วตั้งแต่แรก และแสดงความเห็นว่า การร่วมลงทุน จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี Connected

หัวข้อหลักในการร่วมลงทุนครั้งนี้ คือ CASE เช่นเดียวกับบริษัทยานยนต์หลายราย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ไม่น้อยหน้าคู่แข่งใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรม IT อย่าง Google ทำให้การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้วยบริษัทใดเพียงบริษัทหนึ่ง อาจเป็นภาระต่อบริษัทนั้นมากเกินไป

Toyota กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีของความร่วมมือระหว่างบริษัทว่า “เราพร้อมสำหรับความร่วมมือในทุกด้าน ตราบใดที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ผลประโยชน์” อย่างไรก็ตาม การร่วมมือนั้นจำเป็นต้องมีผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริง เช่น ชิ้นส่วน หรือระบบส่งกำลัง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีความหมาย และชี้แจงเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเป้าหมายจากความร่วมมือกับ Suzuki ในครั้งนี้คือ “การผลิตยานยนต์ขนาดเล็กด้วยต้นทุนต่ำ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ Suzuki มีความเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ การตอบรับความต้องการที่เปลี่ยนจากสมรรถนะ ไปเป็นคุณสมบัติด้านอื่น อย่างระบบขับขี่อัตโนมัติ เทคโนโลยี Sharing และบริการอื่น ๆ ยังมีความจำเป็นในยุคนี้อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การจะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีต้นทุนสูงมาก การผลิตยานยนต์โดยใช้ต้นทุนให้น้อยลงในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้

ผู้เกี่ยวข้องจาก Toyota แสดงความเห็นว่า แม้บริษัทจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเห็นว่ารถยนต์ของ Toyota มีราคาสูง และยังสู้ Suzuki ในด้านนี้ไม่ได้


Toyota ตั้งเป้า กระตุ้นความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย

ส่วนทางด้าน Suzuki นั้น ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “EV C.A. Spirit” บริษัทร่วมทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมี Toyota, Mazda, และ Denso เป็นสมาชิกในปี 2018 ซึ่ง Toyota เล็งเห็นว่า การเข้าร่วมทุนของ Suzuki ในครั้งนี้ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสมาชิกสูงขึ้นจากองค์ความรู้ด้านรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอีกด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า อาจมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดย Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota แสดงความเห็นว่า “หากคิดในแง่การลงทุนอย่างเดียว ความร่วมมือก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ต้องหาผู้ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันด้วย” และได้กล่าวชม Suzuki ว่า “เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง” ตอบสนองต่อคลื่นลูกใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เป็นอย่างดี


Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota (ซ้าย) และ Mr. Osamu Suzuki ประธานบริษัท Suzuki (ขวา) (ภาพวันที่ 12 ตุลาคม 2016)

 

ทางด้าน Mr. Osamu Suzuki ประธานบริษัท Suzuki ยืนยันว่า “จะไม่ละทิ้งจุดยืนของบริษัท” แต่จะเน้นการพัฒนายานยนต์ตามแนวคิด CASE มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วว่าหากกระทำเพียงลำพังก็จะเกิดการล่าช้า ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นตัวช่วยให้การวิจัย และพัฒนาของ Suzuki คืบหน้าได้เร็วกว่าเดิม

นับตั้งแต่ Suzuki ยกเลิกการลงทุนร่วมกับ Volkswagen เมื่อปี 2015 ทางบริษัทก็ไม่มีแผนจะลงทุนร่วมกับบริษัทใดอีก จนกระทั่งปี 2016 จึงเริ่มนำความคิดนี้กลับมาพิจารณาหลังจากกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ Toyota ในขณะที่หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า สำหรับ Suzuki ที่ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ที่โดดเด่นเด่นแล้ว ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้หากต้องการอยู่รอดในตลาดต่อไป

โดย Suzuki ตั้งเป้าลงทุนงบวิจัย และพัฒนา ถึงสิ้นสุดปีงบปีประมาณ 2019 ไว้ที่ 1.7 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 7.5% หลังจากที่ Capital Ratio ของบริษัทตกลงไปอยู่ที่ 35.4% ในปีงบประมาณ 2016 ซึ่งแม้ปัจจุบันจะฟื้นกลับมาสูงกว่า 40% แล้ว แต่ทางบริษัทเล็งเห็นว่ายังไม่เพียงพอ และประกาศลงทุนเพิ่ม 2.5 หมื่นล้านเยน ในวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในพื้นที่ของ Sagara Plant ซึ่งคาดกรณ์ว่าจะมีพื้นที่ถึง 80,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ Suzuki ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมลงทุนใน Monet บริษัทร่วมทุนด้านการคมนาคม และ MaaS ระหว่าง Toyota และ SoftBank อีกด้วย