001-อุตสาหกรรม-เหล็ก-พ.ร.บ.-มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

สมอ. หารือ 7 สมาคมเหล็ก เดินหน้ากำหนด หาแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิต

อัปเดตล่าสุด 2 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 599 Reads   

สมอ. หารือ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เดินหน้ากำหนดมาตรฐานให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นผู้บริโภคปลอดภัย ตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจไทย และอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ ใน 3 กระทรวงหลัก พาณิชย์-คมนาคม-อุตสาหกรรม 

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือระหว่าง สมอ. และ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ว่า จากปัญหาสงครามทางการค้าโลก ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนาน ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ต่างได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน โดยปัญหาหลักคือ สินค้าเหล็กนำเข้าทุ่มตลาด และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ส่งผลให้ในปี 2562 อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียงร้อยละ 34 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุด ในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2559 และการใช้กำลังการผลิตถดถอย เหลือเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น 

นายนาวา จันทนสุรคน ผู้แทนจาก 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กกว่า 470 บริษัท กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำเสนอความรุนแรงของปัญหา และหารือแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งห่วงโซ่การผลิต กับภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ซึ่งทุกกระทรวงได้มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอยู่แล้ว 

นายวันชัยฯ เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดย สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับสินค้าในกลุ่มเหล็กให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิต และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยหลังจากที่ สมอ. ได้ปรับปรุง พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. รวดเร็วทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว